Monday, November 26, 2012

วิชาการบัญชี

วิชาการบัญชี
                 มีการพบหลักฐานว่า การบัญชีเกิดขึ้นมากว่า 4,000 ปีแล้ว สมัยนั้นได้มีการจัดทำบัญชีสินค้า บัญชีค่าแรง และค่าภาษีอากร ในเมโสโปเตเมีย ต่อมาก่อนคริสต์ศตวรรษที่ 14 พ่อค้าชาวอิตาเลี่ยนได้พัฒนาระบบบัญชีคู่ขึ้นใช้เป็นครั้งแรก แต่หลักเกณฑ์ต่าง ๆ ที่เขาคิดขึ้นนั้นไม่ได้รวบรวมไว้จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1494 นาย FRA LUCA PACIOLI ชาวอิตาเลี่ยน ได้แต่งหนังสือชื่อ เรียกสั้น ๆ ว่า "Summa" เป็นตำราว่าด้วยการคำนวณเกี่ยวกับเลขคณิต พีชคณิต การแลกเปลี่ยนเงินตรารวมทั้งการบัญชี ซึ่งเขาได้รวบรวมกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ของหลักการบัญชีคู่ไว้อย่างสมบูรณ์ จนได้รับการยกย่องว่าเป็น "บิดาแห่งวิชาการบัญชี" ต่อมาราวคริสต์ศตวรรษที่ 18 เกิดการปฏิวัติทางอุตสาหกรรมขึ้นในยุโรป ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ มีการลงทุนกันมากขึ้น โดยเฉพาะมีการลงทุนร่วมกัน ทำให้เกิดความคิดที่จะบันทึกบัญชีกิจการแยกต่างหากจากเจ้าของ เพื่อจะได้ทราบว่าใครลงทุนเท่าใด และมีสิทธิส่วนได้ ส่วนเสียในกิจการเท่าใดนอกจากนั้นยังมีการจัดทำงบการเงินเพื่อรายงานถึงผลการดำเนินงานและฐานะของธุรกิจให้ผู้ร่วมลงทุนได้ทราบ ซึ่งแนวความคิดนี้เป็นที่ยอมรับและใช้กันอยู่จนถึงปัจจุบัน

              การบัญชี (Accounting) คือ ขั้นตอนของระบบการรวบรวม การวิเคราะห์และการรายงานข้อมูลทางการเงิน (Pride, Hughes and Kapoor. 1996 : 534)
              สมาคมนักบัญชีและผู้สอบบัญชีรับอนุญาตแห่งประเทศไทย ซึ่งเรียกย่อว่า ส.บช. (The Institute of Ceritfied Accountants and Auditor of Thailand : ICAAT) ได้ให้ความหมายของการบัญชีไว้ดังนี้
      การบัญชี (Accounting) หมายถึง ศิลปะของการเก็บรวบรวม บันทึก จำแนก และทำสรุปข้อมูลอันเกี่ยวกับเหตุการณ์ทางเศรษฐกิจในรูปตัวเงิน ผลงานขั้นสุดท้ายของการบัญชีก็คือการให้ข้อมูลทางการเงิน ซึ่งเป็นประโยชน์แก่บุคคลหลายฝ่าย และผู้ที่สนใจในกิจกรรมของกิจการ
      สมาคมผู้สอบบัญชีรับอนุญาตของประเทศสหรัฐอเมริกา ( The American Institute of Certified Public Accountants : AICPA) ได้ให้ความหมายของการบัญชีไว้ดังนี้
      " Accounting is the art of recording, classifying and summarizing in a significant manner and in terms of money, transactions and events which are, in part at least, of financial character and interpreting the results thereof."
      จากคำนิยามดังกล่าว การบัญชี หมายถึง ศิลปะของการจดบันทึก การจำแนกให้เป็นหมวดหมู่ และการสรุปผลสิ่งสำคัญในรูปตัวเงิน รายการ และเหตุการณ์ต่าง ๆ ซึ่งเกี่ยวข้องกับทางด้านการเงิน รวมทั้งการแปลความหมายของผลการปฏิบัติดังกล่าวด้วย


การบัญชีมีความหมายที่สำคัญ 2 ประการ คือ
      1. การทำบัญชี (Bookkeeping) เป็นหน้าที่ของผู้ทำบัญชี (Bookkeeper) ซึ่งมีขั้นตอนการปฏิบัติดังนี้
          1.1 การรวบรวม (Collecting) หมายถึง การรวบรวมข้อมูลหรือรายการค้าที่เกิดขึ้นประจำวันและหลักฐานข้อมูลที่เกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจ เช่น หลักฐานการซื้อเชื่อและขายเชื่อ หลักฐานการับและจ่ายเงิน เป็นต้น
          1.2 การบันทึก (Recording) หมายถึง การจดบันทึกรายการค้าที่เกิดขึ้นแต่ละครั้งให้ถูกต้องตามหลักการบัญชีที่รับรองทั่วไป พร้อมกับบันทึกข้อมูลให้อยู่ในรูปของหน่วยเงินตรา
          1.3 การจำแนก (Classifying) หมายถึง การนำข้อมูลที่จดบันทึกไว้แล้ว มาจำแนกให้เป็นหมวดหมู่ของบัญชีประเภทต่างๆ เช่น หมวดสินทรัพย์ หนี้สิน ส่วนของเจ้าของ รายได้และค่าใช้จ่าย
          1.4 การสรุปข้อมูล (Summarizing) เป็นการนำข้อมูลที่ได้จำแนกให้เป็นหมวดหมู่ดังกล่าวมาแล้วมาสรุปเป็นรายงานทางการเงิน (Accounting report) ซึ่งแสดงถึงผลการดำเนินงานและฐานะการเงินของธุรกิจตลอดจนการได้มาและใช้ไปของเงินสดในรอบระยะเวลาบัญชีหนึ่ง
      2. การให้ข้อมูลทางการเงิน เพื่อประโยชน์แก่บุคคลที่เกี่ยวข้องหลายฝ่าย เช่น ฝ่ายบริหาร ผู้ให้กู้ เจ้าหนี้ ตัวแทนรัฐบาล นักลงทุน เป็นต้น นอกจากนี้ข้อมูลทางการเงินยังสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการวิเคราะห์ทางด้านการเงิน การจัดทำงบประมาณ การปรับปรุงระบบบัญชี เป็นต้น


จากกระบวนการทางการบัญชีอาจแบ่งการบัญชี  ออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้
              1. การบัญชีการเงิน (Financial  Accounting)  หมายถึง  การจัดทำบัญชี  และรายงานทางการเงินของกิจการที่จัดทำขึ้นตามหลักการบัญชีที่รับรองทั่วไป  หรือมาตรฐานการบัญชีสำหรับนำเสนอต่อผู้ใช้งบการเงินที่เป็นบุคคลภายนอกกิจการ  เช่น  นักลงทุน  เจ้าหนี้  ลูกหนี้  หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น  เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจเชิงเศรษฐกิจ
              2. การบัญชีบริหาร (Managerial  Accounting)  หมายถึง  การจัดทำข้อมูลทางการบัญชี  และรายงานทางการเงินในส่วนต่าง ๆ ของกิจการสำหรับนำเสนอต่อฝ่ายบริหารของกิจการ  เพื่อใช้ประโยชน์ในการวางแผน ควบคุม  และตัดสินใจได้อย่างมีประสิทธิภาพ เกิดประสิทธิผลสูงสุดต่อกิจการ  การจัดทำข้อมูลทางการบัญชีบริหารนั้น จัดทำตามความต้องการของฝ่ายบริหาร  ไม่มีกฎเกณฑ์ที่ใช้บังคับ  หรือรูปแบบที่แน่นอน

0 comments:

Post a Comment