Wednesday, June 12, 2013

ภาษีคนทำธุรกิจ

ภาษีคนทำธุรกิจ
http://www.banna-klaeng.com/images/1170819568/1170842392.jpg
               หลายคนที่ทำธุรกิจแบบมีมาตรฐานและเตรียมพร้อมกับทุกเรื่องไม่เว้นแม้แต่เรื่องของ “ภาษี” ที่ต้องคิดและวางแผนก่อนประกอบธุรกิจอันจะนำผลดีมาสู่ธุรกิจเพราะจะทำให้รู้ล่วงหน้าได้อย่างไรบ้าง ทั้งด้านของการเก็บหลักฐาน การออกเอกสารหลักฐาน การคำนวณเสียภาษี การยื่นแบบเสียภาษี ในการจัดเก็บภาษีของสรรพากรนั้น เราพบว่าสรรพากรจัดเก็บภาษีทั้งหมดตามประมวลรัษฎากร 6 ภาษีด้วยกันนั้นคือ

                1. ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

                2. ภาษีเงินได้นิติบุคคล

                3. ภาษี หัก ณ ที่จ่าย

                4. ภาษีมูลค่าเพิ่ม

                5. ภาษีธุรกิจเฉพาะ

                6. อากรแสตมป์

                ในธุรกิจปัจจุบันผู้ประกอบการที่เป็นนิติบุคคลอาจพบว่าภาษีทั้ง 6 กรณีที่กล่าวมาข้างต้นนั้นบริษัทของท่านต้องเสียภาษีทุกเรื่องเลยก็เป็นได้ แต่นิติบุคคลบางรายอาจไม่เคยเสียภาษีธุรกิจเฉพาะเลยหรือไม่เคยเสียอากรแสตมป์เลยซึ่งก็อาจเป็นไปได้อยู่ที่ว่านิติบุคคลนั้นๆ ได้ทำธุรกิจตามที่กฎหมายกำหนดไว้หรือไม่ ถ้ามีหรือทำก็ต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับภาษีนั้นอย่างเลี่ยงไม่ได้

                รูปแบบในการทำธุรกิจในปัจจุบันนอกจากจะจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลแล้ว การประกอบธุรกิจในรูปบุคคลธรรมดาก็มีจำนวนไม่น้อย ซึ่งอาจเป็นเพราะธุรกิจไม่ใหญ่โตอะไรมากมายเจ้าของคนเดียวหรือกิจการของครอบครัว แต่บางรายก็มีเหตุผลที่น่าฟังทีเดียวนั้นก็คือ ไม่ต้องการเข้าไปเกี่ยวข้องกับสรรพากรมากๆ เหมือนกรณีนิติบุคคล แต่เท่าที่สังเกตเห็นพบว่าการประกอบธุรกิจในรูปของบุคคลธรรมดามีส่วนดีที่หลายคนอาจนำไปเป็นข้อมูลในการตัดสินใจได้ว่าจะดำเนินธุรกิจของตนเองในรูปแบบใดจึงจะเหมาะสม นั้นคือ

                1. ง่ายในการตัดสินใจดำเนินธุรกิจ

                2. บุคคลธรรมดาไม่ต้องจัดทำบัญชี และไม่ต้องส่งงบดุลต่อกระทรวงพาณิชย์

                3. เลือกหักค่าใช้จ่ายได้ สำหรับเงินรายได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (5) – (8) แห่งประมวลรัษฎากรซึ่งอาจหักอัตราเหมาหรือเลือกหักตามจำเป็นและสมควร (หักตามจริง) ตามที่คิดว่าตนเองจะได้รับประโยชน์สูงสุดก็ได้

                4. การเสียภาษีไม่มีข้อยุ่งยากมากนัก

                5. เงินได้สุทธิไม่เกิน 1 ล้าน เสียภาษีอัตราต่ำกว่านิติบุคคลทั่วไปซึ่งต้องเสียภาษีในอัตราร้อยละ 30

                ด้วยเงื่อนไขดังกล่าวการเลือกดำเนินธุรกิจในรูปบุคคลธรรมดาจึงพบได้มาก ในส่วนของภาษีที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจของบุคคลธรรมดาซึ่งมีหน้าที่ที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ณ ตอนครึ่งปีหนึ่งครั้งและสิ้นปีอีกหนึ่งครั้งนั้น และนอกจากนั้นบุคคลธรรมดายังอาจจะเสียภาษีอื่นๆ ดังที่กล่าวมาทั้ง 6 ภาษี (ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล) แต่ก็มี 1 ใน 6 ภาษีที่บุคคลธรรมดาผู้ประกอบธุรกิจขอเข้าสู่ระบบนั้นก็คือ การขอเข้าสู่ระบบภาษีมูลค่าเพิ่มด้วยเหตุผลที่ว่ามีภาษีซื้อที่สามารถขอคืนจากสรรพากรได้ โดยกฎหมายมิได้มีข้อห้ามสำหรับผู้ประกอบการที่เป็นบุคคลธรรมดาที่จะเข้าระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่เมื่อเข้าสู่ระบบภาษีมูลค่าเพิ่มเต็มรูปแบบแล้ว จะมีทั้งสิทธิและหน้าที่เหมือนเช่นนิติบุคลเกือบจะทุกกรณี

                แต่กฎหมายภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีมูลค่าเพิ่มนั้นเป็นภาษีคนละเรื่องคนละตัวกัน ดังนั้นหลักเกณฑ์ในการเสียภาษีจึงต่างกันนั้นคือ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเสียจากเกณฑ์เงินสด นั้นคือ ได้รับเงินได้ปีไหนให้นำไปเสียภาษีในปีนั้น ดังนั้นแม้มีสิทธิจะได้รับเงินได้ก็จริง แต่เงินยังไม่ได้รับ ก็จะไม่ต้องนำเงินได้จำนวนดังกล่าวมาเสียภาษีซึ่งต่างจากนิติบุคคลซึ่งใช้เกณฑ์สิทธิในการเสียภาษี

                แต่ในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มของผู้ประกอบการทุกรายจะต้องเรียกเก็บภาษีขายจากลูกค้าหรือผู้รับบริการก็ต่อเมื่อจุดแห่งความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น ซึ่งจุดแห่งความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มอาจจะมิใช่เกิดจากกรณีได้รับเงินค่าสินค้าหรือค่าบริการ แต่อาจจะเกิดจากการส่งมอบสินค้า การออกใบกำกับภาษี การโอนกรรมสิทธิ์ ในจุดนี้เองทำให้ผู้ประกอบการที่เป็นบุคคลธรรมดาได้อย่างถูกกฎหมาย ตามที่ได้กล่าวมาแล้วบุคคลธรรมดาเสียภาษีโดยสรรพากรถือว่าได้รับเงินได้ปีไหนถือเป็นเงินได้ที่ต้องเสียภาษีในปีนั้น แม้ว่าจะเป็นค่าสินค้าหรือค่าบริการในปีที่ผ่านมาแล้วก็ตาม ดังนั้น ถ้าเป็นกรณีขายสินค้า ได้ส่งมอบสินค้าให้กับลูกค้าไปแล้ว ในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2549 มูลค่า 200,000 บาท แต่ลูกค้ายังไม่ชำระเงินค่าสินค้ากับลูกค้า 60 วัน หรือให้ชำระเงินกันในปี 2550 ซึ่งผลในทางภาษีทั้งสองกรณีจะต่างกันนั้นคือ

                1. ภาษีมูลค่าเพิ่ม ผู้ขายรายนี้ต้องออกใบกำกับภาษีเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ซื้อในทันทีที่ส่งมอบสินค้าให้กับลูกค้านั้นคือวันที่ 25 พฤศจิกายน 2549 และต้องนำส่งภาษีขายให้กับสรรพากรภายในวันที่ 15 ธันวาคม 2549

                2. ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ผู้ขายรายนี้ยังไม่ต้องนำรายได้จำนวน 200,000 บาท มารวมเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในปี 2549 เพราะยังไม่ได้รับเงิน แต่เงินได้จำนวน 200,000 บาท จะต้องนำไปเสียภาษีในปี 2550 แทน ซึ่งเป็นการเลื่อนการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้ช้าลงไปอีกหนึ่งปี

                ลองมาดูในเรื่องของการให้บริการที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มของบุคคลธรรมดา เช่น บุคคลธรรมดาประกอบธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ได้ไปรับจ้างสร้างอาคารโรงรถให้กับบริษัทแห่งหนึ่งโดยตกลงค่าจ้างกันจำนวน 400,000 บาท เริ่มก่อสร้างและเสร็จสิ้นในเดือนธันวาคม  2549 แต่ค่าจ้างไปรับในปี 2550 ผลในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ผู้รับเหมาก่อสร้างต้องเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มเมื่อได้รับชำระราคาค่าก่อสร้าง มิใช่เมื่อสร้างเสร็จเพราะความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มของธุรกิจให้บริการเกิดเมื่อชำระราคาค่าบริการ หรือได้ออกใบกำกับภาษี กรณียังไม่มีการออกใบกำกับภาษี ยังไม่มีการชำระราคาค่าบริการ ดังนั้น จึงยังไม่ต้องเสียภาษี และยังไม่ต้องนำค่าจ้างจำนวน 400,000 บาท มาคำนวณเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในปี 2549 แต่นำไปเสียในปี 2550 ซึ่งเป็นปีที่จ่ายเงินได้กันจริงๆ

                จากข้อเท็จจริงดังกล่าวบุคคลธรรมดาสามารถนำไปใช้ในการวางแผนภาษีโดยยึดระยะเวลาการเสียภาษีออกไป หรือกรณีที่ในปี 2549 มีรายได้สูง ซึ่งจะทำให้ต้องเสียภาษีในอัตราที่สูงขึ้น เสียภาษีมากขึ้น ก็อาจจะทำให้เสียภาษีน้อยลงเป็นจำนวนมากด้วยวีการง่ายๆ เช่นนี้ได้

                การทำธุรกิจนอกจากต้องทำให้ต้นทุนการขายนั้นคือตัวสินค้ามีราคาต่ำหรือหาสินค้าคุณภาพดีแต่ราคาถูกมาขายแล้วการวางแผนภาษีที่ดีจะช่วยให้ประหยัดภาษีเป็นการแบ่งเบาภาระให้กับผู้มีเงินได้อีกทางหนึ่งเพื่อผลกำไรที่ดีกว่า



                ที่มา : วารสาร ธรรมนิติ ฉบับ เอกสารภาษีอากร

เมื่อรากหญ้า ถูกถามหาภาษี ตอนที่ 1

เมื่อรากหญ้า ถูกถามหาภาษี ตอนที่ 1http://www.donchan.go.th/images/dynamiccontent/image-photo2-840.jpg

รากหญ้า (ปัจจุบันเรียกว่า "รากแก้ว") มักถูกหยิบขึ้นมาอ้างสร้างความชอบธรรมแก่รัฐบาล (ทุกคณะ) อยู่บ่อยๆ
รัฐบาลไหนอยากเป็นพระเอก ดูดี มีศรัทธา ก็ต้องกะแอม เรียกหา รากหญ้า (รากแก้ว) มาปัดฝุ่นทำทีประหนึ่งเห็นใจ รักใคร่ (นักหนา) อยากช่วย อยากอุ้มชู ให้ลืมตาอ้าปากได้
แต่ไม่เคยเห็นรัฐบาลไหนจริงใจ หรือมีแผนงานหรือยุทธศาสตร์ที่จริงจังอย่างเป็นบูรณาการ และต่อเนื่องจนสัมฤทธิ์ผลสักราย ข้อเขียนในวันนี้ ก็ขอแจมเข้ามาช่วยวางแผนภาษีแก่ธุรกิจรากหญ้าด้วยคน แต่ด้วยเจตนาบริสุทธิ์น่ะครับ เพราะมิได้มีผลประโยชน์ทางการเมืองใดๆ กับเขาเหล่านั้น
การวางแผนภาษีแก่ธุรกิจรากหญ้า จะแบ่งกล่าวเป็นตอนๆ ตอนละ 1 ธุรกิจ โดยขอเริ่มจากธุรกิจเกษตรไทย ซึ่งเป็นรากหญ้าแห่งภูมิปัญญาท้องถิ่นมาแต่โบร่ำโบราณ ดังนี้ครับ



1.
กลยุทธ์ภาษี...ธุรกิจเกษตรไทย
เมืองไทยของเราเป็นประเทศเกษตรกรรมมาแต่ดึกดำบรรพ์ เพราะความเหมาะสมของทำเลที่ตั้ง ภูมิอากาศ และความอุดมสมบูรณ์และเหมาะสมของผืนดิน ฯลฯ

80%
ของประชากรเมืองไทย จึงมีอาชีพเกษตรกรรม ซึ่งถือเป็นกลุ่มคนรากหญ้าแท้จริงของประเทศนี้ พวกเขามีความยากจนข้นแค้น และด้อยการศึกษามาหลายชั่วอายุคน เพราะขาดกำลังทรัพย์และขาดโอกาส แถมยังถูกเอารัดเอาเปรียบแทบทุกประตูตลอดมา จนยากที่จะโงหัว (ถ้าไม่มีกลยุทธ์การผลิต/การค้า และธุรกิจ เข้ามาเสริมช่วย)
ภาพจะกลับเป็นตรงกันข้าม ถ้าเรามองไปที่เกษตรกรของชาติใหญ่ๆ หรือประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น จีน ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย อเมริกา เป็นต้น
จำได้ว่า เมื่อครั้งที่ผู้เขียนไปท่องเที่ยวที่เมืองเซี่ยงไฮ้ ซูโจว หังโจว ฯลฯ พบว่า ตลอด 2 ข้างทางที่รถแล่นไปนอกตัวเมือง หรือระหว่างเมือง จะพบเห็นว่ามีการสร้างบ้านขนาดใหญ่ (2 ชั้น, 3 ชั้น) อยู่ทั่วไป ซึ่งได้ความว่า ส่วนใหญ่เป็นบ้านของชาวนา/เกษตรกรจีน ซึ่งมีฐานะร่ำรวยกว่า/ความเป็นอยู่ (ก็ดี) กว่า พนักงานที่ทำงานตามบริษัทห้างร้านในเมือง (เงินเดือนไม่เหลือเก็บ เพราะถูกกดดันจากค่าครองชีพที่สูงลิบ)
รัฐบาลจีน จะสนับสนุนอุ้มชูเกษตรกรของเขาโดยให้เช่าที่แปลงใหญ่เพื่อเพาะปลูก/ทำมาหากิน ไปชั่วลูกหลานเป็นมรดกตกทอด (แต่ห้ามโอนขาย) เกษตรกรบางคนมีฐานะถึงขั้นส่งลูกหลานไปเรียนต่างประเทศ นัยว่าเพื่อให้ได้ภาษาและความเท่ (เพราะเป็นนักเรียนนอก) แม้จะส่งเรียนประเทศใกล้ๆ เช่น ไทย (ABAC) เป็นต้น
สำหรับเกษตรกรของประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น ออสเตรเลีย ยุโรป และอเมริกา ฯลฯ นั้น ล้วนได้รับการอุปถัมภ์อุ้มชูจากรัฐบาลทั้งสิ้น เช่น การประกันราคาพืชผล การช่วยหาตลาดต่างประเทศ โดยผ่านการเจรจาเปิดเขตการค้าเสรี (FTA) รวมถึงนโยบายกีดกันพืชผลทางการเกษตรจากต่างประเทศ โดยผ่านการตั้งกำแพงภาษี (ในอดีต) ซึ่งในปัจจุบันอาจใช้ non-tariff barrier เช่น การตั้งเกณฑ์มาตรฐานสุขอนามัย (SPS) ที่สูงๆ เป็นต้น...ชาวนา/เกษตรกรของประเทศร่ำรวย เหล่านี้ ล้วนมีฐานะดี และมีอิทธิพล (กดดัน) ต่อรัฐบาลได้มากกว่าบ้านเราเยอะเชียวครับ บางคนถึงขั้นเป็นเศรษฐี/อภิมหาเศรษฐี เช่น การปลูกไร่องุ่น และตั้งโรงงานผลิตไวน์ชั้นนำของโลก เป็นต้น และกลายเป็นผู้สนับสนุนหลังฉากของพรรคการเมือง ก็มี
เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็แปลว่า "เกษตรกรไทย" ก็ย่อมมีโอกาสที่จะมั่งคั่งร่ำรวยได้เช่นกัน (ถ้าเดินถูกทาง) ดังที่ผู้เขียนจะสาธยายเป็นตัวอย่างพอสังเขปดังนี้ครับ

1.
ธุรกิจสวนเกษตร
เมื่อราว 10 ปีก่อน (ยุคฟองสบู่เริ่มแตก) มีเพื่อนคนหนึ่งของผู้เขียนคุยให้ฟังว่า ตนได้ดอดไปซื้อที่ดินผืนใหญ่ที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนเพื่อปลูกสวนส้ม โดยว่าจ้างคนงานในท้องถิ่นจำนวนหนึ่งบริหารจัดการและดูแลสวนส้มแห่งนี้
ช่วงนั้น ผู้เขียนรู้สึกว่าเจ้าหมอนี่คงสติแตกหรืออย่างไร ที่นำเงินไปหว่านทิ้งในหุบป่าเขาเช่นนั้น
ครั้นมาลองนั่งลำดับความคิดดู ก็จินตนาการได้ว่า เพื่อนเราคิดการณ์ใหญ่และฝันไกลจริงๆ เพราะธุรกิจนี้มีโอกาสทำกำไรได้หลายชั้น เริ่มแต่สวนส้ม ซึ่งคัดเลือกพันธุ์ที่ดีเลิศ (เช่นส้มโชกุน) ซึ่งน่าจะให้ผลผลิตที่สูง (เพราะสภาพอากาศ และภูมิประเทศอำนวย) และราคาดี (กำไรงาม) เพราะกำลังเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ
การทำเกษตรกรรมประเภทไม้ล้มลุกและธัญชาตินี้ มีภาระภาษีต่ำ เพราะได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (มาตรา 81 (1) (ก) แห่งประมวลรัษฎากร) จึงมีเพียงภาระภาษีเงินได้ ซึ่งสามารถเลือกหักค่าใช้จ่ายเหมาได้ถึง 85% (พ.ร.ฎ.#11, หากตั้งในรูปบุคคลธรรมดาหรือคณะบุคคล)
ซึ่งถ้าอ่านใจเพื่อนโดยมองข้ามช็อตไปถึงทิศทางการเติบโต/ขยายธุรกิจ ก็ต้องชูหัวแม่โป้งให้ว่า เขาสามารถเดินได้หลายช่อง เช่น ธุรกิจท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ การเปิดเป็นวิทยาลัยเกษตรกรรมให้มีพื้นที่ทำแปลงสาธิตได้กว้างขวาง หรือจะพัฒนาเป็นรีสอร์ต & สปา เป็นต้น ซึ่งเมื่อพื้นที่เจริญขึ้น ก็ย่อมทำให้ที่ดินมีมูลค่าเพิ่มหาศาล ซึ่ง unrealized capital gain นี้ มีตัวเลขสูงกว่าธุรกิจดั้งเดิมเป็นไหนๆ ซึ่งท้ายที่สุด อาจมีโอกาสเป็นรัฐมนตรี ด้วยการสมัครผู้แทนฯ มีฐานเสียงเป็นคนงานมากมายในไร่อีกต่างหาก

2.
ธุรกิจสวนองุ่นและไวน์
เอ่ยถึงไวน์ก็คงต้องเป็น "ชาโต เดอ ชาละวัน" ของ เสธ. หนั่น (พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์) หัวหน้าพรรคมหาชน ซึ่งใช้เวลาช่วงเว้นวรรคทางการเมือง 5 ปี ไปผลักดันธุรกิจสวนองุ่นของตนที่จังหวัดพิจิตร โดยตั้งโรงงานผลิตไวน์องุ่นชั้นแนวหน้าของไทย เพื่อส่งขายทั้งในและต่างประเทศ
ไวน์ของ เสธ. หนั่น ได้เคยชนะการประกวดคัดเลือกขึ้นเสิร์ฟบนเครื่องบินของการบินไทยมาแล้ว จึงย่อมการันตีในคุณภาพว่าไม่เป็นสองรองใคร แถมยังมีราคาถูกกว่าไวน์ชั้นดีจากฝรั่งเศส อิตาลี จึงเป็นการช่วยลดการขาดดุลการค้าได้อีกด้วย
ในอนาคต หากสามารถพัฒนาและคัดเลือกสายพันธุ์ที่เหมาะสมและได้ผู้ร่วมทุนต่างชาติที่มี know - how และประสบการณ์ (กว่านี้) ก็ย่อมมีโอกาสเลื่อนระดับขึ้นเบียดแข่งกับไวน์ชั้นนำในตลาดโลกได้เช่นกัน
กลยุทธ์ธุรกิจของ เสธ. หนั่น คือ การเปิดธุรกิจท่องเที่ยวฟาร์มนกกระจอกเทศและสวนเกษตร เพื่อเป็นรายได้เสริม ซึ่งถ้าวางแผนการเติบโตเป็นธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ ก็จะต้องจัดโครงสร้างทางธุรกิจให้เหมาะสม เช่น การตั้งบริษัทแยกเป็นแต่ละประเภทธุรกิจ (หรือไม่?) การเล็งซื้อที่ดินเพิ่มเติม ซึ่งต้องมองถึงตลาดสินค้าของตนว่าอยู่โซนใด (อเมริกา, ยุโรป, จีน หรืออาเซียน) เพราะในระยะยาวเมื่อโลกนี้เป็นเขตการค้าเสรีแบบไร้พรหมแดน (เต็มรูป) ซึ่งไม่มีกำแพงภาษี (อากรขาเข้า) การแข่งขันเรื่องต้นทุนก็จะโฟกัสไปที่ปัญหาโลจิสติกส์ (logistics) ว่าใครจะเคลื่อนสินค้าถึงมือ ผู้บริโภคได้เร็วกว่าในต้นทุนการขนส่งที่ต่ำกว่า!

3.
ธุรกิจเกษตรครบวงจร
ณ วินาทีนี้ ต้องยกให้กลุ่ม เจียไต๋ (ซี.พี.) เป็นเจ้าแห่งธุรกิจเกษตร/ปศุสัตว์ครบวงจร ที่สมบูรณ์แบบทั้งทางด้านวิสัยทัศน์ ทิศทาง เงินทุน การตลาด การผลิต (ที่ดิน/โรงงาน/เทคโนโลยี) และบุคลากร (เก่งๆ ของไทย ถูกดูดมาไว้ที่นี่เกือบหมด!)
วิสัยทัศน์ (vision) ในการทำธุรกิจ ถือเป็นสิ่งสำคัญที่สุด เข้าทำนอง "ผู้ที่เห็นช่อง/เห็นโอกาสทางธุรกิจ (market opportunity) ย่อมกำชัยเกินครึ่งตัวแล้ว" เพราะเดินหมากก่อน ย่อมกุมสภาพได้เบ็ดเสร็จทั้งชัยภูมิ ชื่อเสียง เครือข่าย และสัมพันธภาพ (connection) โดยเฉพาะการเจาะตลาดต่างแดน เช่น กรณีที่ ซี.พี. กรุ๊ป บุกเบิกไปตั้งโรงงาน และสวนเกษตรขนาดใหญ่โตมโหฬารที่จีนก่อนใครๆ นั้น ชัดเจนว่า เป็นการได้เปรียบกว่าคู่แข่งขันแทบทุกชาติที่เพิ่งเริ่มตื่นตัวและกำลังหาวิธีปีนไต่กำแพงเมืองจีน ในขณะที่จีนวันนี้ฟื้นคืนเป็นยักษ์ใหญ่และมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลกไปแล้ว!
การทำธุรกิจการค้า/การลงทุน/การผลิต ในลักษณะบรรษัทข้ามชาติ (multinational corporation (MNC)) เช่นนี้ มีความจำเป็นจะต้องสร้างฐานรากและจัดโครงสร้างทางธุรกิจให้ถูกต้องเหมาะสม โดยเฉพาะในเรื่องโครงสร้าง เงินทุน/ผู้ถือหุ้น/และภาษีอากร
กล่าวสำหรับในมุมภาษีอากร จะต้องศึกษาภาระภาษีของทั้ง 2 ประเทศ (คือ ไทย/จีน) เช่น ภาษีเงินได้นิติบุคคล (ซึ่งลดได้โดยตั้งบริษัทในเขตเศรษฐกิจพิเศษบางแห่งในจีน) สิทธิประโยชน์จากอนุสัญญาภาษีซ้อน (DTA ไทย-จีน) สนธิสัญญาเปิดเขตการค้าเสรีไทย/จีน อาเซียน/จีน เป็นต้น ซึ่งจะสามารถลดต้นทุนค่าอากรศุลกากรลงได้มาก หากเข้าตามเงื่อนไขของแหล่งกำเนิดสินค้า เป็นต้น

เมื่อรากหญ้า ถูกถามหาภาษี ตอนที่ 2

เมื่อรากหญ้า ถูกถามหาภาษี ตอนที่ 2
รากหญ้ามีสิทธิ (รวย) มั้ยครับ!

กล่าวได้ว่า ธุรกิจรากหญ้าเป็นผู้ที่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากสังคมเสมอมา ไม่ว่ายุคไหน สมัยใด หรือใครจะเป็นนายกรัฐมนตรี
ชาวรากหญ้า มักเป็นผู้หาเช้ากินค่ำ ชักหน้าไม่ถึงหลัง และขาดโอกาสทางธุรกิจเสมอมา ด้วยสารพัดข้อจำกัด วิธีค้าขายของชาวรากหญ้า มักเป็นลักษณะนั่งรอโชคชะตาฟ้าลิขิต หรือประกอบธุรกิจในลักษณะไปตายเอาดาบหน้า ไม่มีแผน จึงไม่มีอนาคต
แต่ธุรกิจรากหญ้าบางรายได้พิสูจน์แล้วว่า เขาและเธอต่างก็มีโอกาสเติบโต ร่ำรวย ไม่แพ้ใคร ถ้ารู้จักคิด รู้จักเดิน และเดินถูกทาง!
ข้อเขียนในวันนี้ จะนำท่านผู้อ่านไปพบกับอีกหนึ่งธุรกิจ home-based แท้ๆ ของสังคมไทย คือ กิจการของ "ค่ายมวยแฟร์เท็กซ์"



2.
กลยุทธ์ภาษี ธุรกิจชกมวย (ไทย)
ถ้าเอ่ยถึง กีฬาพื้นบ้านของไทย ก็ต้องนึกถึงการชนไก่ (และแอ๊ด คาราบาว) บ่อนวัว (การชนวัว + พนันขันต่อ เล็กน้อย) ประเพณีวิ่งควาย/แข่งเรือ และการชกมวย (ไทย) ฯลฯ
ซึ่งในวันนี้ เราจะโฟกัสไปที่กีฬามวยไทย ซึ่งอยู่คู่กับงานประจำปี/งานวัดของจังหวัดต่างๆ มาช้านาน เรียกว่า งานใดถ้าไม่มีรายการมวย ก็คงกร่อยพิลึก!
ในชนบท จะใช้วิธีเปรียบมวยเพื่อประกบคู่ โดยกำหนดวันนัดหมายให้ยอดมวย/ผู้ที่อยากชกมวย (เพื่อหารายได้พิเศษ) มาพบปะกัน
วิธีประกบคู่ ก็คงต้องคำนึงถึงน้ำหนักตัว/ประวัติและสถิติการชก/ชื่อชั้น และความสามารถเป็นเกณฑ์ เพื่อให้เกมการชกคู่คี่ สูสี ไม่ได้เปรียบเสียเปรียบกัน โดยมักแบ่งเป็น 5 คู่/วัน ไล่เรียงขึ้นมาจนถึงคู่เอกของการชกในแต่ละรอบ
ค่ายมวยในต่างจังหวัด โดยส่วนใหญ่มักจะเป็นประเภทสมัครเล่น คือ ซ้อมเพื่อออกกำลังกาย เพราะค่าตัวไม่สูง ไม่อาจดำรงชีพได้ ทั้งๆ ที่ "มวยไทย" เป็นศิลปะการต่อสู้ที่คลาสสิค ดุดัน และเป็นภูมิปัญญาที่สามารถอนุรักษ์เป็นมรดกโลกได้เลย แต่คงเป็นเพราะความอ่อนด้อยของระบบการบริหารจัดการ และขาดการส่งเสริมจริงจังจากภาครัฐ จึงทำให้ความนิยมกลับสู้กีฬายูโด คาราเต้ (ญี่ปุ่น) เทควันโด (เกาหลี) และกังฟู (จีน) ไม่ได้...อะไรกันเนี่ย!?
แต่วันนี้ ผู้เขียนได้พบเห็นโอกาส วิธีการ และอนาคตของกีฬามวยไทยแล้ว จากรายการ "สุริวิภา" ซึ่งเขาสัมภาษณ์ "บรรจง บุษราคัมวงษ์" เจ้าของ "ค่ายมวยแฟร์เท็กซ์ (Fairtex) " บนพื้นที่ 3 ไร่ ย่านบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งถือเป็นมิติใหม่ของการทำธุรกิจและบริหารจัดการกิจการกีฬา และสปอร์ตคอมเพล็กซ์ ที่มีอนาคตสดใสชัดเจนมาก!

1.
พลิกปูม กว่าจะเป็นค่ายมวย "แฟร์เท็กซ์"
พื้นเพของคุณบรรจง (จีนแต้จิ๋วจากเมืองเซี่ยงไฮ้) หอบเสื่อผืนหมอนใบ ในวัย 3 ขวบ ติดตามคุณพ่อเข้ามาเมืองไทย โดยเริ่มจับธุรกิจตัวแทนจำหน่ายสินค้าหลากหลาย (trading firm) เช่น กระดุม กระดาษ ลิปสติค กระดาน ชอล์ก เป็นต้น โดยเป็นผู้ค้าส่ง (wholesaler) แก่ร้านค้าทั่วไป
เนื่องจากฐานะของครอบครัวค่อนข้างดี จึงทำให้คุณบรรจงได้มีโอกาสลัดฟ้าไปศึกษาในต่างประเทศตั้งแต่เยาว์วัย ที่ฮ่องกง (มัธยม) และอเมริกา (ด้านบริหารธุรกิจ) ทำให้มีความได้เปรียบ เพราะรู้ทั้งภาษาจีน และอังกฤษ (เป็นอย่างดี) และได้มีโอกาสเห็นความเจริญในโลกกว้าง
ธุรกิจเริ่มต้นและสร้างชื่อเสียงแก่คุณบรรจง คือ การนำเข้าเสื้อผ้ายี่ห้อมองตากูร์ และตั้งโรงงานทอผ้า/ย้อมผ้า และผลิตเสื้อผ้ายี่ห้อ "Fairtex" ที่โด่งดังเป็นพลุเมื่อ 40 ปีก่อน!
การจัดตั้งค่ายมวย "แฟร์เท็กซ์" เป็นเพราะชอบและมีใจรักในศิลปะมวยไทย การเปิดค่ายมวยนั้นไม่ยาก แต่ความยากจะอยู่ที่โอกาสส่งนักมวยขึ้นชกตามเวทีมาตรฐาน คือ เวทีมวยราชดำเนิน และลุมพินี ซึ่งเป็นแหล่งอิทธิพลและผูกขาดโดยโปรโมเตอร์เพียงไม่กี่คน!

2.
เปิดกลยุทธ์บริหารค่ายมวย ให้มั่งคั่งและร่ำรวย
แน่นอนว่า ลำพังเพียงการส่งนักมวยขึ้นชก โดยได้ค่าตัวต่อครั้งเพียงหลักหมื่นถึงหลักแสนบาท (กรณี ยอดมวย) ย่อมไม่คุ้มค่าในเชิงการค้าและธุรกิจ เพราะมีโสหุ้ยสูง คือ ค่าสถานที่ตั้งค่าย (ซึ่งต้องซื้อ หรือเช่าที่ดิน) ค่าก่อสร้างเวทีซ้อมและบ้านพักอาศัยแก่นักมวย/พี่เลี้ยง/และผู้ฝึกสอน ค่าอาหาร และรายจ่ายเบ็ดเตล็ดในแต่ละวัน ค่าเบี้ยเลี้ยงและส่วนแบ่งค่าตัวแก่นักมวย เป็นต้น
ความจริงยังมีค่าภาษีอากรของค่ายมวย และตัวนักมวย ซึ่งต้องการบริหารจัดการและวางแผนภาษี เพื่อควบคุมรายจ่ายส่วนนี้ให้เหมาะสมและต่ำที่สุด เช่น การเลือกหน่วยภาษีของค่ายมวยว่าจะอยู่ในรูปบุคคล/คณะบุคคล/หรือบริษัทจำกัด ซึ่งขึ้นอยู่กับขนาดของรายได้และผลกำไร สำหรับตัวนักมวยซึ่งมักถูกผูกมัดด้วยสัญญาสิทธิการชก และส่วนแบ่งค่าตัว ทำให้ตัวนักมวยมีรายได้ต่ำ (กว่าที่ควรจะเป็น) ซึ่งอาจไม่ถึงเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษีเงินได้ หรือเสียเพียงอัตราเบื้องต้นขั้นต่ำราว 10% เป็นต้น
มองดูรูปการณ์ถ้าดำเนินไปแบบเดิมๆ เช่นนี้ ย่อมฟันธงได้ว่า ทั้งค่ายมวยและตัวนักมวย ก็คงต้องจนดักดานเรื่อยไป (ไม่นับรายได้จากการพนันขันต่อ (ถ้ามี))
แต่ค่ายมวยแฟร์เท็กซ์ แห่งนี้ ใช้กลยุทธ์ขยายธุรกรรมทั้งในแนวดิ่ง และแนวนอน (vertical and horizontal diversify of business) โดย

*
เปิดแผนกสอนมวยไทย ให้แก่ฝรั่งต่างชาติ พร้อมบริการที่พักและอาหาร (ขณะนี้มีลูกค้า 30 คน)ซึ่งถ้าหากไปยื่นขออนุญาตจัดตั้งในรูปโรงเรียนต่อกระทรวงศึกษาธิการ ก็จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้ (บุคคลธรรมดา/นิติบุคคล) VAT และส่วนแบ่งกำไร (เงินปันผล) ให้แก่ผู้ถือหุ้น เช่นเดียวกันกับโรงเรียนราษฎร์/วิทยาลัย/มหาวิทยาลัยเอกชน ทั้งหลาย

*
การเปิดสปอร์ตคลับ "แฟร์เท็กซ์-พัทยา" บนเนื้อที่ 8 ไร่ ในลักษณะสถานออกกำลังกายครบวงจร อาทิ มวย เทนนิส โยคะ ฟิตเนส เครื่องออกกำลังกายต่างๆ เป็นต้นนั้น มีแง่มุมธุรกิจและภาษีที่ต้องพิจารณาหลายประการ อาทิ แหล่งเงินทุนดำเนินการ ซึ่งหากกู้จากสถาบันการเงินฯ ก็จะมีภาระดอกเบี้ยจ่าย (เป็น taxable expenses ได้) ทำให้ผลประกอบการต่ำลง แต่เป็นการลดภาระความเสี่ยงจากการควักกระเป๋าใช้เงินทุนของตนเองในรูปของทุนจดทะเบียน (การจ่ายเงินปันผลนำมาหักรายจ่ายทางภาษีไม่ได้)
นอกจากนั้น ยังต้องประมาณการระยะเวลาคืนทุน และผลตอบแทนจากการลงทุน ซึ่งก็คือเรื่องของ ผลประกอบการว่าจะมีกำไร/ขาดทุนอย่างไร ซึ่งจะเกี่ยวโยงกับการจัดโครงสร้างธุรกิจว่าจะเปิดเป็นบริษัทใหม่แยกต่างหากจากธุรกิจเดิมที่บางพลีหรือไม่?
ข้อดีของการเปิดสปอร์ตคลับแบบครบวงจรก็คือ ทำการตลาดได้ง่าย เพราะฐานลูกค้ากว้างกว่า การเปิดเพียงธุรกิจเดียว (โรงเรียนสอนมวย) แต่ข้อเสียคือ บริษัทใหม่นี้จะไม่ได้รับการยกเว้นภาษีใดๆ ทั้งสิ้น (เพราะมิใช่โรงเรียน)

*
การเปิดโรงแรมห้าดาว (พัทยา) ซึ่งถือเป็นการฉีกแนวของธุรกิจหลัก (เดิม) ย่อมมีส่วนดึงดูดลูกค้าชั้นดีมีระดับ ทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ ให้เข้ามาใช้บริการของทั้งสองส่วน (โรงแรม/สปอร์ตคลับ) จึงถือว่า สถานที่แห่งนี้มีแม่เหล็ก (business magnet) 2 ตัว พร้อมกัน ซึ่งจะมีผลดีต่อธุรกิจต่อเนื่องในอนาคต (ถ้ามี) เช่น การเปิดศูนย์การค้า/การขายอาคารพาณิชย์ เป็นต้น (หากได้ chain แม่เหล็กของต่างประเทศ เช่น Mariot, Four Seasons Holiday Inn, Sheraton, Intercontinental etc. เป็นต้น ก็จะยิ่ง success ทางการตลาดต่างชาติ)
ดูๆ ไปแล้ว การเพิ่มมูลค่าของที่ดินในอนาคต (unrealized capital gain) อาจเป็นเม็ดเงินที่สูงกว่ากำไรของธุรกิจหลักด้วยซ้ำ ซึ่งมูลค่าแฝงเช่นนี้ ยังไม่ต้องเสียภาษีเงินได้/ภาษีธุรกิจเฉพาะ จนกว่าจะมีการขายออกไป ซึ่งตามโครงสร้างกฎหมายภาษีในปัจจุบัน หากจะใช้วิธีโอนทางมรดกแก่บุตร ก็มิต้องเสียภาษีใดๆ เช่นเดียวกัน

*
การเปิดโรงงานผลิตอุปกรณ์กีฬามวย เช่น นวม กระสอบทราย เป้าชก เป็นต้น โดยขายทั่วไปทั้งในประเทศและส่งออกไปยังอเมริกา ก็เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ตรงกับประสบการณ์และความชำนาญของคุณบรรจง ซึ่งถือเป็นธุรกิจเสริม เพราะตลาดยังแคบ จึงเป็นเสมือนน้ำหล่อเลี้ยงองค์กร คือไม่ต้องพึ่งพิงอุปกรณ์ยี่ห้ออื่น ซึ่งอาจซื้อหาได้ไม่ครบประเภทตามที่เราต้องการ ในอนาคตแม้บริษัทจะได้สิทธิลดอากรขาเข้า (จาก FTA) ในประเทศคู่ค้า เช่น ญี่ปุ่น อเมริกา ฯลฯ ก็คงไม่มีผลต่อการเพิ่มยอดขายสักเท่าใด เพราะ demand สินค้าที่จะเพิ่มขึ้นนั้นแขวนอยู่กับความนิยมในกีฬามวยไทย ซึ่งต้องค่อยเป็นค่อยไปอีกระยะใหญ่ๆ ทีเดียว!

3.
เมื่อมวยไทยหาญกล้ารุกคืบไปต่างแดน
กระแสคลั่งไคล้สนใจศิลปะการต่อสู้แบบ "มวยไทย" (Muay-Thai) เริ่มเป็นที่แพร่หลายทั้งในญี่ปุ่น ยุโรป และอเมริกา ฯลฯ โดยต่างชาติเริ่มรับรู้ถึงพิษสงมวยไทย และรู้ว่าแตกต่างจาก Kick Boxing ซึ่งเคยถูกลอกเลียนแบบและนำไปโปรโมตจัดชกกันเอิกเกริกเมื่อ 30 ปีก่อน
ความร้อนแรงของมวยไทย ซึ่งแพร่หลายวงกว้างขึ้นก็คงต้องยกเครดิตให้แก่ภาพยนตร์ "องค์บาก" และ "ต้มยำกุ้ง" ซึ่งแสดงนำโดย พนม จีรัมย์ (จา - พนม หรือ Tony Ja) ซึ่งเป็นผู้เปิดกรุตำนานแม่ไม้มวยไชยา ซึ่งเกือบจะกลายเป็นนิยายปรัมปราในตำราไปแล้ว
ผู้เขียนได้เคยเขียนถึง และวิเคราะห์แนวโน้ม/โอกาสอภิมหาร่ำรวยของ Tony Ja ไว้ยาวเหยียดถึง 3 ตอน โดยจินตนาการถึง (อภิมหา) รายได้ ซึ่งจะได้รับจากการเป็นดาราอินเตอร์/Gift Sets ในลิขสิทธิ์ตรา Tony Ja/โรงเรียนสอนมวย ฯลฯ โดยโยงใยให้เห็นถึงวิธีจัดหน่วยภาษี (tax entity) โดยตั้งบริษัททั้งในและต่างประเทศ รวมถึงการตั้ง Holding Company (ระหว่างเสี่ยจา + เสี่ยเจียง) โดยนำเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ (SET) เพื่อลดภาระภาษีเงินได้นิติบุคคลเหลือ 25% (จดเข้าก่อน 31 ธันวาคม 2548) และจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับกำไรจากการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ เช่นเดียวกับกรณีของการขายหุ้น Oishi, Shin Corp เป็นต้น
น่าเสียดายและสงสัยว่า "ทำไมหมู่นี้ข่าวคราวของเสี่ยจาถึงหายเงียบไป ฤาสูเจ้าจะถูกบดบังด้วยข่าวม๊อบ ก็ไม่รู้!?"

ภาษีของวิชาชีพการบัญชี

ภาษีของวิชาชีพการบัญชี
http://www.bu.ac.th/th/academic/images/photo_accounting.jpg
ปัจจุบันการประกอบอาชีพอิสระ เป็นหนทางเลือกหนึ่ง ที่เป็นที่นิยมสำหรับผู้ที่ต้องการมีกิจการเป็นของตนเอง ไม่ต้องไปเป็นลูกน้องของใคร เช่น การขายประกัน กิจการร้านอาหาร สำนักงานทนายความ เป็นต้น แต่มีวิชาชีพหนึ่งที่ทำกันมากได้แก่ กิจการรับทำบัญชี เพราะกฎหมายได้กำหนดให้ ผู้ประกอบการค้าขายต้องจัดทำบัญชี วิชาชีพการบัญชีจึงมีแพร่หลายในทุกท้องที่ และประมวลรัษฎากร ตามนัยมาตรา 40(6) ได้กำหนดให้วิชาชีพการบัญชี เป็นวิชาชีพอิสระ ซึ่งอาชีพอิสระมากมาย หลากหลายประเภท ผู้ประกอบการต้องระมัดระวังในการยื่นแบบเสียภาษี เพราะหากไม่ใช่วิชาชีพอิสระตามมาตรา 40(6) การคำนวณค่าใช้จ่ายอาจจะไม่ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนดไว้

ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี นอกจากจะประกอบการวิชาชีพทางบัญชีแล้ว ยังดำเนินการประกอบธุรกรรมอื่นๆ อีก มีหลายท่านที่นำเงินได้จากธุรกรรมอื่นๆ เข้าไปรวมเป็นเงินได้จากวิชาชีพบัญชี ทำให้การยื่นแบบเสียภาษีผิดพลาด ต้องเสียภาษี เบี้ยปรับ และเงินเพิ่ม เพิ่มเติม

 การประกอบวิชาชีพบัญชี ได้แก่ การรับวางรูปบัญชี การคำนวณบัญชีต้นทุน การรับจ้างทำบัญชี การให้ปรึกษาทางบัญชี การตรวจสอบบัญชีในฐานะผู้สอบบัญชีรับอนุญาตหรือผู้สอบบัญชีภาษีอากร กรณีที่ไม่ถือว่าเป็นการประกอบวิชาชีพบัญชี แต่มีการเข้าใจผิดว่าเป็นวิชาชีพบัญชี ได้แก่ การรับจดทะเบียนบริษัท การรับยื่นแบบและเสียภาษี การจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม การวิเคราะห์โครงการเพื่อลงทุน การเป็นตัวแทนชี้แจงกรณีลูกค้าถูกตรวจสอบภาษีอากร เป็นต้น

1. ภาษีเงินได้

1.1 ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หากผู้ประกอบการเป็นบุคคลธรรมดาและประกอบวิชาชีพการบัญชีที่กล่าวมาข้างต้น จะต้องยื่นแบบเสียภาษีครึ่งปี (ภ.ง.ด.94) และภาษีประจำปี (ภ.ง.ด.90) โดยให้นำเงินได้พึงประเมิน หักออกด้วยค่าใช้จ่าย หากหักเป็นการเหมา จะหักได้ร้อยละ 30 ของเงินได้ หรือจะหักตามที่ได้จ่ายจริงก็ได้ หลังจากนั้นให้หักค่าลดหย่อน จะเหลือเงินได้สุทธิเพื่อนำไปคำนวณภาษีต่อไป อย่างไรก็ตามจะต้องนำเงินได้พึงประเมินไปคำนวณภาษีในอัตราร้อยละ 0.50 แล้วนำภาษีที่คำนวณได้ ไปเปรียบเทียบภาษีที่คำนวณจากเงินได้สุทธิ จำนวนเงินภาษีใดมากกว่า ให้ชำระภาษีวิธีนั้น

1.2 ภาษีเงินได้นิติบุคคล บริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ที่ประกอบวิชาชีพบัญชีจะต้องนำรายได้ไปรวมคำนวณเพื่อหากำไรสุทธิ โดยให้หักค่าใช้จ่ายตามมาตรา 65 ทวิ และมาตรา 65 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร ได้จำนวนกำไรสุทธิเท่าใด ให้คำนวณภาษีในอัตราที่กฎหมายกำหนด

1.3 ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ที่จ่ายเงินค่าจ้างให้แก่ผู้ประกอบการวิชาชีพบัญชี จะต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 3 หากผู้รับเงินเป็นบุคคลธรรมดา ให้นำส่งภาษีด้วยแบบ ภ.ง.ด.3 แต่ถ้าผู้รับเงินเป็นนิติบุคคลให้นำส่งด้วยแบบ ภ.ง.ด.53

2. ภาษีมูลค่าเพิ่ม

กฎหมายได้กำหนดให้ ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี เฉพาะการตรวจสอบบัญชีเท่านั้น ที่ได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ส่วนการดำเนินการอื่นๆ เช่น การให้คำปรึกษาทางบัญชี การวางระบบบัญชี การรับจ้างทำบัญชี ฯลฯ หากมีรายรับเกิน 1.80 ล้านต่อปี จะต้องเข้าสู่ระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม

ท้ายนี้ ก็ขอให้ท่านที่ประกอบวิชาชีพบัญชี ได้ใช้ความระมัดระวังว่า การทำธุรกรรมใดเป็นวิชาชีพทางบัญชีหรือไม่ จะได้วางแผนได้ถูกต้อง หากแยกประเภทเงินได้ผิดพลาดแล้ว การยื่นแบบเพื่อเสียภาษีและการถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย จะผิดพลาดไปด้วยนะครับ

 ข้อมูล : นสพ. โพสต์ทูเดย์ วันพุธที่ 25 พ.ค. 48

ขั้นตอนและแนวทางการพิจารณาอุทธรณ์ของผู้กล่าวหาหรือผู้ซึ่งถูกคณะกรรมการจรรยาบรรณสั่งลงโทษ

ขั้นตอนและแนวทางการพิจารณาอุทธรณ์ของผู้กล่าวหาหรือผู้ซึ่งถูกคณะกรรมการจรรยาบรรณสั่งลงโทษ
         http://www.spu.ac.th/wp-content/uploads/2011/01/IMG_0046.jpg        ตามที่ พระราชบัญญัติวิชาชีพบัญชี พ.ศ. 2547 มาตรา 60(5) กำหนดให้คณะกรรมการกำกับดูแลการประกอบวิชาชีพบัญชี มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาอุทธรณ์ของผู้กล่าวหาหรือผู้ซึ่งถูกคณะกรรมการ จรรยาบรรณสั่งลงโทษ ดังนั้น คณะกรรมการกำกับดูแลการประกอบวิชาชีพบัญชี จึงได้กำหนดขั้นตอนและแนวทางการพิจารณาอุทธรณ์ของผู้กล่าวหาหรือผู้ซึ่งถูก คณะกรรมการจรรยาบรรณสั่งลงโทษ เพื่อให้การพิจารณาอุทธรณ์ของผู้กล่าวหาหรือผู้ซึ่งถูกคณะกรรมการจรรยาบรรณ สั่งลงโทษเป็นไปด้วยความโปร่งใสและเผยแพร่ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้ทราบ ดังนี้
1. ขั้นตอนและแนวทางการพิจารณาอุทธรณ์ของผู้กล่าวหาหรือผู้ซึ่งถูกคณะกรรมการจรรยาบรรณสั่งลงโทษ

    พระราชบัญญัติวิชาชีพบัญชี พ.ศ. 2547 มาตรา 60(5) กำหนดให้คณะกรรมการกำกับดูแลการประกอบวิชาชีพบัญชี มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาอุทธรณ์ของผู้กล่าวหาหรือผู้ซึ่งถูกคณะกรรมการ จรรยาบรรณสั่งลงโทษ
     เพื่อให้การพิจารณาอุทธรณ์ของผู้กล่าวหาหรือผู้ซึ่งถูกคณะกรรมการจรรยาบรรณ สั่งลงโทษเป็นไปด้วยความโปร่งใส และมีประสิทธิผลคณะกรรมการกำกับดูแลการประกอบวิชาชีพบัญชี จึงได้กำหนดขั้นตอนการพิจารณาอุทธรณ์ ดังนี้
    1.1 การยื่นคำอุทธรณ์ ผู้อุทธรณ์ยื่นคำอุทธรณ์ต่อเลขานุการคณะกรรมการกำกับดูแลการประกอบวิชาชีพ บัญชี ณ สำนักกำกับดูแลธุรกิจ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่งของคณะกรรมการจรรยาบรรณ (ประกาศคณะกรรมการกำกับดูแลการประกอบวิชาชีพบัญชี เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอุทธรณ์ พ.ศ. 2549)
    1.2 การตรวจสอบคำอุทธรณ์และเอกสารประกอบคำอุทธรณ์ เลขานุการฯตรวจสอบคำอุทธรณ์ว่าจัดทำเป็นหนังสือโดยจัดพิมพ์เป็นภาษาไทย ระบุชื่อ ที่อยู่ ลงลายมือชื่อผู้อุทธรณ์ และระบุข้อโต้แย้งและข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่อ้างอิงประกอบพร้อมกับแนบ เอกสารหลักฐานประกอบคำอุทธรณ์ (ถ้ามี) ทั้งนี้ หากผู้ยื่นอุทธรณ์ยื่นเอกสารประกอบคำอุทธรณ์ไม่ครบถ้วน อาจขอแก้ไขเพิ่มเติมคำอุทธรณ์หรือส่งเอกสารหลักฐานประกอบคำอุทธรณ์เพิ่มเติม ได้ ภายในกำหนดเวลาการยื่นอุทธรณ์ (ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่งของคณะกรรมการจรรยาบรรณ)
    1.3 การขอเอกสารหลักฐานการประกอบพิจารณาจากคณะกรรมการจรรยาบรรณ เลขานุการฯมีหนังสือขอให้คณะกรรมการจรรยาบรรณ ชี้แจงข้อเท็จจริงและขั้นตอนการพิจารณาสั่งลงโทษจรรยาบรรณหรือยกคำกล่าวหา พร้อมนำส่งเอกสารหลักฐานประกอบการชี้แจง ภายใน 7 วัน นับจากวันที่รับคำอุทธรณ์ครบถ้วนเป็นไปตามที่ประกาศฯกำหนด และให้คณะกรรมการจรรยาบรรณนำส่งคำชี้แจงและเอกสารหลักฐานดังกล่าว ต่อเลขานุการคณะกรรมการกำกับดูแลการประกอบวิชาชีพบัญชีภายใน 15 วันนับจากวันที่ได้รับหนังสือของเลขานุการคณะกรรมการกำกับดูแลการประกอบ วิชาชีพบัญชี
    *ขั้นตอนที่ 1-3 ใช้ระยะเวลารวมทั้งสิ้น 2 เดือน
    1.4 การรวบรวมข้อมูลเพื่อเสนอต่อคณะอนุกรรมการพิจารณากลั่นกรองอุทธรณ์ เมื่อ เลขานุการได้รับคำชี้แจงและเอกสารหลักฐานจากคณะกรรมการจรรยาบรรณ แล้ว ให้รวบรวมข้อมูลทั้งจากผู้อุทธรณ์และคณะกรรมการจรรยาบรรณ เสนอต่อคณะอนุกรรมการพิจารณากลั่นกรองอุทธรณ์
    1.5 การพิจารณาของคณะอนุกรรมการพิจารณากลั่นกรองอุทธรณ์ คณะอนุกรรมการพิจารณากลั่นกรองอุทธรณ์ของผู้กล่าวหาหรือผู้ซึ่งถูกคณะกรรมการ จรรยาบรรณสั่งลงโทษ เพื่อเสนอความเห็นต่อคณะกรรมการกำกับดูแลการประกอบวิชาชีพบัญชี
    1.6 การวินิจฉัยของคณะกรรมการกำกับดูแลการประกอบวิชาชีพบัญชี คณะกรรมการกำกับดูแลการประกอบวิชาชีพบัญชีพิจารณาคำอุทธรณ์ตามที่ คณะอนุกรรมการพิจารณากลั่นกรองอุทธรณ์เสนอ ก่อนมีคำวินิจฉัยยกคำอุทธรณ์หรือยกเลิกคำสั่งลงโทษของคณะกรรมการจรรยาบรรณ
     * ขั้นตอนที่ 4-7 ใช้ระยะเวลารวมทั้งสิ้น 3 เดือน
     ** ระยะเวลาที่ใช้ในการพิจารณาอุทธรณ์ 1 ราย ใช้ระยะเวลารวมทั้งสิ้น 5 เดือน
    1.7 การแจ้งผลการอุทธรณ์ เลขานุการคณะกรรมการกำกับดูแลการประกอบวิชาชีพบัญชีจะแจ้งผลการวินิจฉัยของ คณะกรรมการกำกับดูแลการประกอบวิชาชีพบัญชี ให้ผู้อุทธรณ์ คณะกรรมการจรรยาบรรณและคณะอนุกรรมการพิจารณากลั่นกรองอุทธรณ์ทราบ ดังนี้
    กรณียกคำอุทธรณ์
จะแจ้งผลการวินิจฉัยให้ผู้อุทธรณ์ทราบภายใน 7 วัน นับจากวันที่คณะกรรมการกำกับดูแลการประกอบวิชาชีพบัญชีมีคำวินิจฉัย
    กรณียกเลิกคำสั่งคณะกรรมการจรรยาบรรณ
จะแจ้งผลการวินิจฉัยให้ผู้อุทธรณ์และคณะกรรมการจรรยาบรรณทราบ ภายใน 7 วัน นับจากวันที่คณะกรรมการกำกับดูแลการประกอบวิชาชีพบัญชีมีคำวินิจฉัย
2. แนวทางในการพิจารณาอุทธรณ์ของผู้กล่าวหาหรือผู้ซึ่งถูกคณะกรรมการจรรยาบรรณสั่งลงโทษ
    2.1 พิจารณาขั้นตอนการสอบสวนและการพิจารณาของคณะกรรมการจรรยาบรรณว่าเป็นไป ตามพระราชบัญญัติวิชาชีพบัญชี พ.ศ. 2547 ข้อบังคับสภาวิชาชีพบัญชี (ฉบับที่ 12) เรื่องการพิจารณาเกี่ยวกับจรรยาบรรณ พ.ศ. 2549 ข้อกำหนดสภาวิชาชีพบัญชี เรื่อง การกำหนดองค์ประกอบ วิธีการแต่งตั้งและอำนาจหน้าที่ของคณะอนุกรรมการสอบสวนเกี่ยวกับจรรยาบรรณ พ.ศ. 2549 และข้อกำหนดสภาวิชาชีพบัญชี เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการสอบสวนของคณะอนุกรรมการสอบสวน พ.ศ. 2550 พิจารณาข้อเท็จจริงในการสอบสวนของคณะกรรมการจรรยาบรรณ
    2.2 พิจารณาข้อเท็จจริงในการสอบสวนของคณะกรรมการจรรยาบรรณ
    2.3 พิจารณาประเด็นข้อโต้แย้งของผู้อุทธรณ์ ว่าเป็นประเด็นเดียวกับที่คณะกรรมการจรรยาบรรณได้พิจารณาลงโทษ รวมทั้งเหตุผลข้อโต้แย้งของผู้อุทธรณ์ว่ารับฟังได้หรือไม่
    2.4 พิจารณาระดับการลงโทษของคณะกรรมการจรรยาบรรณว่ามีความสอดคล้องกับข้อเท็จ จริงและหลักเกณฑ์การพิจารณาลงโทษผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีที่กำหนดไว้