Wednesday, June 12, 2013

เมื่อรากหญ้า ถูกถามหาภาษี ตอนที่ 1

เมื่อรากหญ้า ถูกถามหาภาษี ตอนที่ 1http://www.donchan.go.th/images/dynamiccontent/image-photo2-840.jpg

รากหญ้า (ปัจจุบันเรียกว่า "รากแก้ว") มักถูกหยิบขึ้นมาอ้างสร้างความชอบธรรมแก่รัฐบาล (ทุกคณะ) อยู่บ่อยๆ
รัฐบาลไหนอยากเป็นพระเอก ดูดี มีศรัทธา ก็ต้องกะแอม เรียกหา รากหญ้า (รากแก้ว) มาปัดฝุ่นทำทีประหนึ่งเห็นใจ รักใคร่ (นักหนา) อยากช่วย อยากอุ้มชู ให้ลืมตาอ้าปากได้
แต่ไม่เคยเห็นรัฐบาลไหนจริงใจ หรือมีแผนงานหรือยุทธศาสตร์ที่จริงจังอย่างเป็นบูรณาการ และต่อเนื่องจนสัมฤทธิ์ผลสักราย ข้อเขียนในวันนี้ ก็ขอแจมเข้ามาช่วยวางแผนภาษีแก่ธุรกิจรากหญ้าด้วยคน แต่ด้วยเจตนาบริสุทธิ์น่ะครับ เพราะมิได้มีผลประโยชน์ทางการเมืองใดๆ กับเขาเหล่านั้น
การวางแผนภาษีแก่ธุรกิจรากหญ้า จะแบ่งกล่าวเป็นตอนๆ ตอนละ 1 ธุรกิจ โดยขอเริ่มจากธุรกิจเกษตรไทย ซึ่งเป็นรากหญ้าแห่งภูมิปัญญาท้องถิ่นมาแต่โบร่ำโบราณ ดังนี้ครับ



1.
กลยุทธ์ภาษี...ธุรกิจเกษตรไทย
เมืองไทยของเราเป็นประเทศเกษตรกรรมมาแต่ดึกดำบรรพ์ เพราะความเหมาะสมของทำเลที่ตั้ง ภูมิอากาศ และความอุดมสมบูรณ์และเหมาะสมของผืนดิน ฯลฯ

80%
ของประชากรเมืองไทย จึงมีอาชีพเกษตรกรรม ซึ่งถือเป็นกลุ่มคนรากหญ้าแท้จริงของประเทศนี้ พวกเขามีความยากจนข้นแค้น และด้อยการศึกษามาหลายชั่วอายุคน เพราะขาดกำลังทรัพย์และขาดโอกาส แถมยังถูกเอารัดเอาเปรียบแทบทุกประตูตลอดมา จนยากที่จะโงหัว (ถ้าไม่มีกลยุทธ์การผลิต/การค้า และธุรกิจ เข้ามาเสริมช่วย)
ภาพจะกลับเป็นตรงกันข้าม ถ้าเรามองไปที่เกษตรกรของชาติใหญ่ๆ หรือประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น จีน ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย อเมริกา เป็นต้น
จำได้ว่า เมื่อครั้งที่ผู้เขียนไปท่องเที่ยวที่เมืองเซี่ยงไฮ้ ซูโจว หังโจว ฯลฯ พบว่า ตลอด 2 ข้างทางที่รถแล่นไปนอกตัวเมือง หรือระหว่างเมือง จะพบเห็นว่ามีการสร้างบ้านขนาดใหญ่ (2 ชั้น, 3 ชั้น) อยู่ทั่วไป ซึ่งได้ความว่า ส่วนใหญ่เป็นบ้านของชาวนา/เกษตรกรจีน ซึ่งมีฐานะร่ำรวยกว่า/ความเป็นอยู่ (ก็ดี) กว่า พนักงานที่ทำงานตามบริษัทห้างร้านในเมือง (เงินเดือนไม่เหลือเก็บ เพราะถูกกดดันจากค่าครองชีพที่สูงลิบ)
รัฐบาลจีน จะสนับสนุนอุ้มชูเกษตรกรของเขาโดยให้เช่าที่แปลงใหญ่เพื่อเพาะปลูก/ทำมาหากิน ไปชั่วลูกหลานเป็นมรดกตกทอด (แต่ห้ามโอนขาย) เกษตรกรบางคนมีฐานะถึงขั้นส่งลูกหลานไปเรียนต่างประเทศ นัยว่าเพื่อให้ได้ภาษาและความเท่ (เพราะเป็นนักเรียนนอก) แม้จะส่งเรียนประเทศใกล้ๆ เช่น ไทย (ABAC) เป็นต้น
สำหรับเกษตรกรของประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น ออสเตรเลีย ยุโรป และอเมริกา ฯลฯ นั้น ล้วนได้รับการอุปถัมภ์อุ้มชูจากรัฐบาลทั้งสิ้น เช่น การประกันราคาพืชผล การช่วยหาตลาดต่างประเทศ โดยผ่านการเจรจาเปิดเขตการค้าเสรี (FTA) รวมถึงนโยบายกีดกันพืชผลทางการเกษตรจากต่างประเทศ โดยผ่านการตั้งกำแพงภาษี (ในอดีต) ซึ่งในปัจจุบันอาจใช้ non-tariff barrier เช่น การตั้งเกณฑ์มาตรฐานสุขอนามัย (SPS) ที่สูงๆ เป็นต้น...ชาวนา/เกษตรกรของประเทศร่ำรวย เหล่านี้ ล้วนมีฐานะดี และมีอิทธิพล (กดดัน) ต่อรัฐบาลได้มากกว่าบ้านเราเยอะเชียวครับ บางคนถึงขั้นเป็นเศรษฐี/อภิมหาเศรษฐี เช่น การปลูกไร่องุ่น และตั้งโรงงานผลิตไวน์ชั้นนำของโลก เป็นต้น และกลายเป็นผู้สนับสนุนหลังฉากของพรรคการเมือง ก็มี
เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็แปลว่า "เกษตรกรไทย" ก็ย่อมมีโอกาสที่จะมั่งคั่งร่ำรวยได้เช่นกัน (ถ้าเดินถูกทาง) ดังที่ผู้เขียนจะสาธยายเป็นตัวอย่างพอสังเขปดังนี้ครับ

1.
ธุรกิจสวนเกษตร
เมื่อราว 10 ปีก่อน (ยุคฟองสบู่เริ่มแตก) มีเพื่อนคนหนึ่งของผู้เขียนคุยให้ฟังว่า ตนได้ดอดไปซื้อที่ดินผืนใหญ่ที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนเพื่อปลูกสวนส้ม โดยว่าจ้างคนงานในท้องถิ่นจำนวนหนึ่งบริหารจัดการและดูแลสวนส้มแห่งนี้
ช่วงนั้น ผู้เขียนรู้สึกว่าเจ้าหมอนี่คงสติแตกหรืออย่างไร ที่นำเงินไปหว่านทิ้งในหุบป่าเขาเช่นนั้น
ครั้นมาลองนั่งลำดับความคิดดู ก็จินตนาการได้ว่า เพื่อนเราคิดการณ์ใหญ่และฝันไกลจริงๆ เพราะธุรกิจนี้มีโอกาสทำกำไรได้หลายชั้น เริ่มแต่สวนส้ม ซึ่งคัดเลือกพันธุ์ที่ดีเลิศ (เช่นส้มโชกุน) ซึ่งน่าจะให้ผลผลิตที่สูง (เพราะสภาพอากาศ และภูมิประเทศอำนวย) และราคาดี (กำไรงาม) เพราะกำลังเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ
การทำเกษตรกรรมประเภทไม้ล้มลุกและธัญชาตินี้ มีภาระภาษีต่ำ เพราะได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (มาตรา 81 (1) (ก) แห่งประมวลรัษฎากร) จึงมีเพียงภาระภาษีเงินได้ ซึ่งสามารถเลือกหักค่าใช้จ่ายเหมาได้ถึง 85% (พ.ร.ฎ.#11, หากตั้งในรูปบุคคลธรรมดาหรือคณะบุคคล)
ซึ่งถ้าอ่านใจเพื่อนโดยมองข้ามช็อตไปถึงทิศทางการเติบโต/ขยายธุรกิจ ก็ต้องชูหัวแม่โป้งให้ว่า เขาสามารถเดินได้หลายช่อง เช่น ธุรกิจท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ การเปิดเป็นวิทยาลัยเกษตรกรรมให้มีพื้นที่ทำแปลงสาธิตได้กว้างขวาง หรือจะพัฒนาเป็นรีสอร์ต & สปา เป็นต้น ซึ่งเมื่อพื้นที่เจริญขึ้น ก็ย่อมทำให้ที่ดินมีมูลค่าเพิ่มหาศาล ซึ่ง unrealized capital gain นี้ มีตัวเลขสูงกว่าธุรกิจดั้งเดิมเป็นไหนๆ ซึ่งท้ายที่สุด อาจมีโอกาสเป็นรัฐมนตรี ด้วยการสมัครผู้แทนฯ มีฐานเสียงเป็นคนงานมากมายในไร่อีกต่างหาก

2.
ธุรกิจสวนองุ่นและไวน์
เอ่ยถึงไวน์ก็คงต้องเป็น "ชาโต เดอ ชาละวัน" ของ เสธ. หนั่น (พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์) หัวหน้าพรรคมหาชน ซึ่งใช้เวลาช่วงเว้นวรรคทางการเมือง 5 ปี ไปผลักดันธุรกิจสวนองุ่นของตนที่จังหวัดพิจิตร โดยตั้งโรงงานผลิตไวน์องุ่นชั้นแนวหน้าของไทย เพื่อส่งขายทั้งในและต่างประเทศ
ไวน์ของ เสธ. หนั่น ได้เคยชนะการประกวดคัดเลือกขึ้นเสิร์ฟบนเครื่องบินของการบินไทยมาแล้ว จึงย่อมการันตีในคุณภาพว่าไม่เป็นสองรองใคร แถมยังมีราคาถูกกว่าไวน์ชั้นดีจากฝรั่งเศส อิตาลี จึงเป็นการช่วยลดการขาดดุลการค้าได้อีกด้วย
ในอนาคต หากสามารถพัฒนาและคัดเลือกสายพันธุ์ที่เหมาะสมและได้ผู้ร่วมทุนต่างชาติที่มี know - how และประสบการณ์ (กว่านี้) ก็ย่อมมีโอกาสเลื่อนระดับขึ้นเบียดแข่งกับไวน์ชั้นนำในตลาดโลกได้เช่นกัน
กลยุทธ์ธุรกิจของ เสธ. หนั่น คือ การเปิดธุรกิจท่องเที่ยวฟาร์มนกกระจอกเทศและสวนเกษตร เพื่อเป็นรายได้เสริม ซึ่งถ้าวางแผนการเติบโตเป็นธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ ก็จะต้องจัดโครงสร้างทางธุรกิจให้เหมาะสม เช่น การตั้งบริษัทแยกเป็นแต่ละประเภทธุรกิจ (หรือไม่?) การเล็งซื้อที่ดินเพิ่มเติม ซึ่งต้องมองถึงตลาดสินค้าของตนว่าอยู่โซนใด (อเมริกา, ยุโรป, จีน หรืออาเซียน) เพราะในระยะยาวเมื่อโลกนี้เป็นเขตการค้าเสรีแบบไร้พรหมแดน (เต็มรูป) ซึ่งไม่มีกำแพงภาษี (อากรขาเข้า) การแข่งขันเรื่องต้นทุนก็จะโฟกัสไปที่ปัญหาโลจิสติกส์ (logistics) ว่าใครจะเคลื่อนสินค้าถึงมือ ผู้บริโภคได้เร็วกว่าในต้นทุนการขนส่งที่ต่ำกว่า!

3.
ธุรกิจเกษตรครบวงจร
ณ วินาทีนี้ ต้องยกให้กลุ่ม เจียไต๋ (ซี.พี.) เป็นเจ้าแห่งธุรกิจเกษตร/ปศุสัตว์ครบวงจร ที่สมบูรณ์แบบทั้งทางด้านวิสัยทัศน์ ทิศทาง เงินทุน การตลาด การผลิต (ที่ดิน/โรงงาน/เทคโนโลยี) และบุคลากร (เก่งๆ ของไทย ถูกดูดมาไว้ที่นี่เกือบหมด!)
วิสัยทัศน์ (vision) ในการทำธุรกิจ ถือเป็นสิ่งสำคัญที่สุด เข้าทำนอง "ผู้ที่เห็นช่อง/เห็นโอกาสทางธุรกิจ (market opportunity) ย่อมกำชัยเกินครึ่งตัวแล้ว" เพราะเดินหมากก่อน ย่อมกุมสภาพได้เบ็ดเสร็จทั้งชัยภูมิ ชื่อเสียง เครือข่าย และสัมพันธภาพ (connection) โดยเฉพาะการเจาะตลาดต่างแดน เช่น กรณีที่ ซี.พี. กรุ๊ป บุกเบิกไปตั้งโรงงาน และสวนเกษตรขนาดใหญ่โตมโหฬารที่จีนก่อนใครๆ นั้น ชัดเจนว่า เป็นการได้เปรียบกว่าคู่แข่งขันแทบทุกชาติที่เพิ่งเริ่มตื่นตัวและกำลังหาวิธีปีนไต่กำแพงเมืองจีน ในขณะที่จีนวันนี้ฟื้นคืนเป็นยักษ์ใหญ่และมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลกไปแล้ว!
การทำธุรกิจการค้า/การลงทุน/การผลิต ในลักษณะบรรษัทข้ามชาติ (multinational corporation (MNC)) เช่นนี้ มีความจำเป็นจะต้องสร้างฐานรากและจัดโครงสร้างทางธุรกิจให้ถูกต้องเหมาะสม โดยเฉพาะในเรื่องโครงสร้าง เงินทุน/ผู้ถือหุ้น/และภาษีอากร
กล่าวสำหรับในมุมภาษีอากร จะต้องศึกษาภาระภาษีของทั้ง 2 ประเทศ (คือ ไทย/จีน) เช่น ภาษีเงินได้นิติบุคคล (ซึ่งลดได้โดยตั้งบริษัทในเขตเศรษฐกิจพิเศษบางแห่งในจีน) สิทธิประโยชน์จากอนุสัญญาภาษีซ้อน (DTA ไทย-จีน) สนธิสัญญาเปิดเขตการค้าเสรีไทย/จีน อาเซียน/จีน เป็นต้น ซึ่งจะสามารถลดต้นทุนค่าอากรศุลกากรลงได้มาก หากเข้าตามเงื่อนไขของแหล่งกำเนิดสินค้า เป็นต้น

0 comments:

Post a Comment