Wednesday, June 12, 2013

เมื่อรากหญ้า ถูกถามหาภาษี ตอนที่ 2

เมื่อรากหญ้า ถูกถามหาภาษี ตอนที่ 2
รากหญ้ามีสิทธิ (รวย) มั้ยครับ!

กล่าวได้ว่า ธุรกิจรากหญ้าเป็นผู้ที่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากสังคมเสมอมา ไม่ว่ายุคไหน สมัยใด หรือใครจะเป็นนายกรัฐมนตรี
ชาวรากหญ้า มักเป็นผู้หาเช้ากินค่ำ ชักหน้าไม่ถึงหลัง และขาดโอกาสทางธุรกิจเสมอมา ด้วยสารพัดข้อจำกัด วิธีค้าขายของชาวรากหญ้า มักเป็นลักษณะนั่งรอโชคชะตาฟ้าลิขิต หรือประกอบธุรกิจในลักษณะไปตายเอาดาบหน้า ไม่มีแผน จึงไม่มีอนาคต
แต่ธุรกิจรากหญ้าบางรายได้พิสูจน์แล้วว่า เขาและเธอต่างก็มีโอกาสเติบโต ร่ำรวย ไม่แพ้ใคร ถ้ารู้จักคิด รู้จักเดิน และเดินถูกทาง!
ข้อเขียนในวันนี้ จะนำท่านผู้อ่านไปพบกับอีกหนึ่งธุรกิจ home-based แท้ๆ ของสังคมไทย คือ กิจการของ "ค่ายมวยแฟร์เท็กซ์"



2.
กลยุทธ์ภาษี ธุรกิจชกมวย (ไทย)
ถ้าเอ่ยถึง กีฬาพื้นบ้านของไทย ก็ต้องนึกถึงการชนไก่ (และแอ๊ด คาราบาว) บ่อนวัว (การชนวัว + พนันขันต่อ เล็กน้อย) ประเพณีวิ่งควาย/แข่งเรือ และการชกมวย (ไทย) ฯลฯ
ซึ่งในวันนี้ เราจะโฟกัสไปที่กีฬามวยไทย ซึ่งอยู่คู่กับงานประจำปี/งานวัดของจังหวัดต่างๆ มาช้านาน เรียกว่า งานใดถ้าไม่มีรายการมวย ก็คงกร่อยพิลึก!
ในชนบท จะใช้วิธีเปรียบมวยเพื่อประกบคู่ โดยกำหนดวันนัดหมายให้ยอดมวย/ผู้ที่อยากชกมวย (เพื่อหารายได้พิเศษ) มาพบปะกัน
วิธีประกบคู่ ก็คงต้องคำนึงถึงน้ำหนักตัว/ประวัติและสถิติการชก/ชื่อชั้น และความสามารถเป็นเกณฑ์ เพื่อให้เกมการชกคู่คี่ สูสี ไม่ได้เปรียบเสียเปรียบกัน โดยมักแบ่งเป็น 5 คู่/วัน ไล่เรียงขึ้นมาจนถึงคู่เอกของการชกในแต่ละรอบ
ค่ายมวยในต่างจังหวัด โดยส่วนใหญ่มักจะเป็นประเภทสมัครเล่น คือ ซ้อมเพื่อออกกำลังกาย เพราะค่าตัวไม่สูง ไม่อาจดำรงชีพได้ ทั้งๆ ที่ "มวยไทย" เป็นศิลปะการต่อสู้ที่คลาสสิค ดุดัน และเป็นภูมิปัญญาที่สามารถอนุรักษ์เป็นมรดกโลกได้เลย แต่คงเป็นเพราะความอ่อนด้อยของระบบการบริหารจัดการ และขาดการส่งเสริมจริงจังจากภาครัฐ จึงทำให้ความนิยมกลับสู้กีฬายูโด คาราเต้ (ญี่ปุ่น) เทควันโด (เกาหลี) และกังฟู (จีน) ไม่ได้...อะไรกันเนี่ย!?
แต่วันนี้ ผู้เขียนได้พบเห็นโอกาส วิธีการ และอนาคตของกีฬามวยไทยแล้ว จากรายการ "สุริวิภา" ซึ่งเขาสัมภาษณ์ "บรรจง บุษราคัมวงษ์" เจ้าของ "ค่ายมวยแฟร์เท็กซ์ (Fairtex) " บนพื้นที่ 3 ไร่ ย่านบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งถือเป็นมิติใหม่ของการทำธุรกิจและบริหารจัดการกิจการกีฬา และสปอร์ตคอมเพล็กซ์ ที่มีอนาคตสดใสชัดเจนมาก!

1.
พลิกปูม กว่าจะเป็นค่ายมวย "แฟร์เท็กซ์"
พื้นเพของคุณบรรจง (จีนแต้จิ๋วจากเมืองเซี่ยงไฮ้) หอบเสื่อผืนหมอนใบ ในวัย 3 ขวบ ติดตามคุณพ่อเข้ามาเมืองไทย โดยเริ่มจับธุรกิจตัวแทนจำหน่ายสินค้าหลากหลาย (trading firm) เช่น กระดุม กระดาษ ลิปสติค กระดาน ชอล์ก เป็นต้น โดยเป็นผู้ค้าส่ง (wholesaler) แก่ร้านค้าทั่วไป
เนื่องจากฐานะของครอบครัวค่อนข้างดี จึงทำให้คุณบรรจงได้มีโอกาสลัดฟ้าไปศึกษาในต่างประเทศตั้งแต่เยาว์วัย ที่ฮ่องกง (มัธยม) และอเมริกา (ด้านบริหารธุรกิจ) ทำให้มีความได้เปรียบ เพราะรู้ทั้งภาษาจีน และอังกฤษ (เป็นอย่างดี) และได้มีโอกาสเห็นความเจริญในโลกกว้าง
ธุรกิจเริ่มต้นและสร้างชื่อเสียงแก่คุณบรรจง คือ การนำเข้าเสื้อผ้ายี่ห้อมองตากูร์ และตั้งโรงงานทอผ้า/ย้อมผ้า และผลิตเสื้อผ้ายี่ห้อ "Fairtex" ที่โด่งดังเป็นพลุเมื่อ 40 ปีก่อน!
การจัดตั้งค่ายมวย "แฟร์เท็กซ์" เป็นเพราะชอบและมีใจรักในศิลปะมวยไทย การเปิดค่ายมวยนั้นไม่ยาก แต่ความยากจะอยู่ที่โอกาสส่งนักมวยขึ้นชกตามเวทีมาตรฐาน คือ เวทีมวยราชดำเนิน และลุมพินี ซึ่งเป็นแหล่งอิทธิพลและผูกขาดโดยโปรโมเตอร์เพียงไม่กี่คน!

2.
เปิดกลยุทธ์บริหารค่ายมวย ให้มั่งคั่งและร่ำรวย
แน่นอนว่า ลำพังเพียงการส่งนักมวยขึ้นชก โดยได้ค่าตัวต่อครั้งเพียงหลักหมื่นถึงหลักแสนบาท (กรณี ยอดมวย) ย่อมไม่คุ้มค่าในเชิงการค้าและธุรกิจ เพราะมีโสหุ้ยสูง คือ ค่าสถานที่ตั้งค่าย (ซึ่งต้องซื้อ หรือเช่าที่ดิน) ค่าก่อสร้างเวทีซ้อมและบ้านพักอาศัยแก่นักมวย/พี่เลี้ยง/และผู้ฝึกสอน ค่าอาหาร และรายจ่ายเบ็ดเตล็ดในแต่ละวัน ค่าเบี้ยเลี้ยงและส่วนแบ่งค่าตัวแก่นักมวย เป็นต้น
ความจริงยังมีค่าภาษีอากรของค่ายมวย และตัวนักมวย ซึ่งต้องการบริหารจัดการและวางแผนภาษี เพื่อควบคุมรายจ่ายส่วนนี้ให้เหมาะสมและต่ำที่สุด เช่น การเลือกหน่วยภาษีของค่ายมวยว่าจะอยู่ในรูปบุคคล/คณะบุคคล/หรือบริษัทจำกัด ซึ่งขึ้นอยู่กับขนาดของรายได้และผลกำไร สำหรับตัวนักมวยซึ่งมักถูกผูกมัดด้วยสัญญาสิทธิการชก และส่วนแบ่งค่าตัว ทำให้ตัวนักมวยมีรายได้ต่ำ (กว่าที่ควรจะเป็น) ซึ่งอาจไม่ถึงเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษีเงินได้ หรือเสียเพียงอัตราเบื้องต้นขั้นต่ำราว 10% เป็นต้น
มองดูรูปการณ์ถ้าดำเนินไปแบบเดิมๆ เช่นนี้ ย่อมฟันธงได้ว่า ทั้งค่ายมวยและตัวนักมวย ก็คงต้องจนดักดานเรื่อยไป (ไม่นับรายได้จากการพนันขันต่อ (ถ้ามี))
แต่ค่ายมวยแฟร์เท็กซ์ แห่งนี้ ใช้กลยุทธ์ขยายธุรกรรมทั้งในแนวดิ่ง และแนวนอน (vertical and horizontal diversify of business) โดย

*
เปิดแผนกสอนมวยไทย ให้แก่ฝรั่งต่างชาติ พร้อมบริการที่พักและอาหาร (ขณะนี้มีลูกค้า 30 คน)ซึ่งถ้าหากไปยื่นขออนุญาตจัดตั้งในรูปโรงเรียนต่อกระทรวงศึกษาธิการ ก็จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้ (บุคคลธรรมดา/นิติบุคคล) VAT และส่วนแบ่งกำไร (เงินปันผล) ให้แก่ผู้ถือหุ้น เช่นเดียวกันกับโรงเรียนราษฎร์/วิทยาลัย/มหาวิทยาลัยเอกชน ทั้งหลาย

*
การเปิดสปอร์ตคลับ "แฟร์เท็กซ์-พัทยา" บนเนื้อที่ 8 ไร่ ในลักษณะสถานออกกำลังกายครบวงจร อาทิ มวย เทนนิส โยคะ ฟิตเนส เครื่องออกกำลังกายต่างๆ เป็นต้นนั้น มีแง่มุมธุรกิจและภาษีที่ต้องพิจารณาหลายประการ อาทิ แหล่งเงินทุนดำเนินการ ซึ่งหากกู้จากสถาบันการเงินฯ ก็จะมีภาระดอกเบี้ยจ่าย (เป็น taxable expenses ได้) ทำให้ผลประกอบการต่ำลง แต่เป็นการลดภาระความเสี่ยงจากการควักกระเป๋าใช้เงินทุนของตนเองในรูปของทุนจดทะเบียน (การจ่ายเงินปันผลนำมาหักรายจ่ายทางภาษีไม่ได้)
นอกจากนั้น ยังต้องประมาณการระยะเวลาคืนทุน และผลตอบแทนจากการลงทุน ซึ่งก็คือเรื่องของ ผลประกอบการว่าจะมีกำไร/ขาดทุนอย่างไร ซึ่งจะเกี่ยวโยงกับการจัดโครงสร้างธุรกิจว่าจะเปิดเป็นบริษัทใหม่แยกต่างหากจากธุรกิจเดิมที่บางพลีหรือไม่?
ข้อดีของการเปิดสปอร์ตคลับแบบครบวงจรก็คือ ทำการตลาดได้ง่าย เพราะฐานลูกค้ากว้างกว่า การเปิดเพียงธุรกิจเดียว (โรงเรียนสอนมวย) แต่ข้อเสียคือ บริษัทใหม่นี้จะไม่ได้รับการยกเว้นภาษีใดๆ ทั้งสิ้น (เพราะมิใช่โรงเรียน)

*
การเปิดโรงแรมห้าดาว (พัทยา) ซึ่งถือเป็นการฉีกแนวของธุรกิจหลัก (เดิม) ย่อมมีส่วนดึงดูดลูกค้าชั้นดีมีระดับ ทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ ให้เข้ามาใช้บริการของทั้งสองส่วน (โรงแรม/สปอร์ตคลับ) จึงถือว่า สถานที่แห่งนี้มีแม่เหล็ก (business magnet) 2 ตัว พร้อมกัน ซึ่งจะมีผลดีต่อธุรกิจต่อเนื่องในอนาคต (ถ้ามี) เช่น การเปิดศูนย์การค้า/การขายอาคารพาณิชย์ เป็นต้น (หากได้ chain แม่เหล็กของต่างประเทศ เช่น Mariot, Four Seasons Holiday Inn, Sheraton, Intercontinental etc. เป็นต้น ก็จะยิ่ง success ทางการตลาดต่างชาติ)
ดูๆ ไปแล้ว การเพิ่มมูลค่าของที่ดินในอนาคต (unrealized capital gain) อาจเป็นเม็ดเงินที่สูงกว่ากำไรของธุรกิจหลักด้วยซ้ำ ซึ่งมูลค่าแฝงเช่นนี้ ยังไม่ต้องเสียภาษีเงินได้/ภาษีธุรกิจเฉพาะ จนกว่าจะมีการขายออกไป ซึ่งตามโครงสร้างกฎหมายภาษีในปัจจุบัน หากจะใช้วิธีโอนทางมรดกแก่บุตร ก็มิต้องเสียภาษีใดๆ เช่นเดียวกัน

*
การเปิดโรงงานผลิตอุปกรณ์กีฬามวย เช่น นวม กระสอบทราย เป้าชก เป็นต้น โดยขายทั่วไปทั้งในประเทศและส่งออกไปยังอเมริกา ก็เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ตรงกับประสบการณ์และความชำนาญของคุณบรรจง ซึ่งถือเป็นธุรกิจเสริม เพราะตลาดยังแคบ จึงเป็นเสมือนน้ำหล่อเลี้ยงองค์กร คือไม่ต้องพึ่งพิงอุปกรณ์ยี่ห้ออื่น ซึ่งอาจซื้อหาได้ไม่ครบประเภทตามที่เราต้องการ ในอนาคตแม้บริษัทจะได้สิทธิลดอากรขาเข้า (จาก FTA) ในประเทศคู่ค้า เช่น ญี่ปุ่น อเมริกา ฯลฯ ก็คงไม่มีผลต่อการเพิ่มยอดขายสักเท่าใด เพราะ demand สินค้าที่จะเพิ่มขึ้นนั้นแขวนอยู่กับความนิยมในกีฬามวยไทย ซึ่งต้องค่อยเป็นค่อยไปอีกระยะใหญ่ๆ ทีเดียว!

3.
เมื่อมวยไทยหาญกล้ารุกคืบไปต่างแดน
กระแสคลั่งไคล้สนใจศิลปะการต่อสู้แบบ "มวยไทย" (Muay-Thai) เริ่มเป็นที่แพร่หลายทั้งในญี่ปุ่น ยุโรป และอเมริกา ฯลฯ โดยต่างชาติเริ่มรับรู้ถึงพิษสงมวยไทย และรู้ว่าแตกต่างจาก Kick Boxing ซึ่งเคยถูกลอกเลียนแบบและนำไปโปรโมตจัดชกกันเอิกเกริกเมื่อ 30 ปีก่อน
ความร้อนแรงของมวยไทย ซึ่งแพร่หลายวงกว้างขึ้นก็คงต้องยกเครดิตให้แก่ภาพยนตร์ "องค์บาก" และ "ต้มยำกุ้ง" ซึ่งแสดงนำโดย พนม จีรัมย์ (จา - พนม หรือ Tony Ja) ซึ่งเป็นผู้เปิดกรุตำนานแม่ไม้มวยไชยา ซึ่งเกือบจะกลายเป็นนิยายปรัมปราในตำราไปแล้ว
ผู้เขียนได้เคยเขียนถึง และวิเคราะห์แนวโน้ม/โอกาสอภิมหาร่ำรวยของ Tony Ja ไว้ยาวเหยียดถึง 3 ตอน โดยจินตนาการถึง (อภิมหา) รายได้ ซึ่งจะได้รับจากการเป็นดาราอินเตอร์/Gift Sets ในลิขสิทธิ์ตรา Tony Ja/โรงเรียนสอนมวย ฯลฯ โดยโยงใยให้เห็นถึงวิธีจัดหน่วยภาษี (tax entity) โดยตั้งบริษัททั้งในและต่างประเทศ รวมถึงการตั้ง Holding Company (ระหว่างเสี่ยจา + เสี่ยเจียง) โดยนำเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ (SET) เพื่อลดภาระภาษีเงินได้นิติบุคคลเหลือ 25% (จดเข้าก่อน 31 ธันวาคม 2548) และจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับกำไรจากการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ เช่นเดียวกับกรณีของการขายหุ้น Oishi, Shin Corp เป็นต้น
น่าเสียดายและสงสัยว่า "ทำไมหมู่นี้ข่าวคราวของเสี่ยจาถึงหายเงียบไป ฤาสูเจ้าจะถูกบดบังด้วยข่าวม๊อบ ก็ไม่รู้!?"

0 comments:

Post a Comment