Wednesday, June 12, 2013

ภาษีของวิชาชีพการบัญชี

ภาษีของวิชาชีพการบัญชี
http://www.bu.ac.th/th/academic/images/photo_accounting.jpg
ปัจจุบันการประกอบอาชีพอิสระ เป็นหนทางเลือกหนึ่ง ที่เป็นที่นิยมสำหรับผู้ที่ต้องการมีกิจการเป็นของตนเอง ไม่ต้องไปเป็นลูกน้องของใคร เช่น การขายประกัน กิจการร้านอาหาร สำนักงานทนายความ เป็นต้น แต่มีวิชาชีพหนึ่งที่ทำกันมากได้แก่ กิจการรับทำบัญชี เพราะกฎหมายได้กำหนดให้ ผู้ประกอบการค้าขายต้องจัดทำบัญชี วิชาชีพการบัญชีจึงมีแพร่หลายในทุกท้องที่ และประมวลรัษฎากร ตามนัยมาตรา 40(6) ได้กำหนดให้วิชาชีพการบัญชี เป็นวิชาชีพอิสระ ซึ่งอาชีพอิสระมากมาย หลากหลายประเภท ผู้ประกอบการต้องระมัดระวังในการยื่นแบบเสียภาษี เพราะหากไม่ใช่วิชาชีพอิสระตามมาตรา 40(6) การคำนวณค่าใช้จ่ายอาจจะไม่ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนดไว้

ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี นอกจากจะประกอบการวิชาชีพทางบัญชีแล้ว ยังดำเนินการประกอบธุรกรรมอื่นๆ อีก มีหลายท่านที่นำเงินได้จากธุรกรรมอื่นๆ เข้าไปรวมเป็นเงินได้จากวิชาชีพบัญชี ทำให้การยื่นแบบเสียภาษีผิดพลาด ต้องเสียภาษี เบี้ยปรับ และเงินเพิ่ม เพิ่มเติม

 การประกอบวิชาชีพบัญชี ได้แก่ การรับวางรูปบัญชี การคำนวณบัญชีต้นทุน การรับจ้างทำบัญชี การให้ปรึกษาทางบัญชี การตรวจสอบบัญชีในฐานะผู้สอบบัญชีรับอนุญาตหรือผู้สอบบัญชีภาษีอากร กรณีที่ไม่ถือว่าเป็นการประกอบวิชาชีพบัญชี แต่มีการเข้าใจผิดว่าเป็นวิชาชีพบัญชี ได้แก่ การรับจดทะเบียนบริษัท การรับยื่นแบบและเสียภาษี การจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม การวิเคราะห์โครงการเพื่อลงทุน การเป็นตัวแทนชี้แจงกรณีลูกค้าถูกตรวจสอบภาษีอากร เป็นต้น

1. ภาษีเงินได้

1.1 ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หากผู้ประกอบการเป็นบุคคลธรรมดาและประกอบวิชาชีพการบัญชีที่กล่าวมาข้างต้น จะต้องยื่นแบบเสียภาษีครึ่งปี (ภ.ง.ด.94) และภาษีประจำปี (ภ.ง.ด.90) โดยให้นำเงินได้พึงประเมิน หักออกด้วยค่าใช้จ่าย หากหักเป็นการเหมา จะหักได้ร้อยละ 30 ของเงินได้ หรือจะหักตามที่ได้จ่ายจริงก็ได้ หลังจากนั้นให้หักค่าลดหย่อน จะเหลือเงินได้สุทธิเพื่อนำไปคำนวณภาษีต่อไป อย่างไรก็ตามจะต้องนำเงินได้พึงประเมินไปคำนวณภาษีในอัตราร้อยละ 0.50 แล้วนำภาษีที่คำนวณได้ ไปเปรียบเทียบภาษีที่คำนวณจากเงินได้สุทธิ จำนวนเงินภาษีใดมากกว่า ให้ชำระภาษีวิธีนั้น

1.2 ภาษีเงินได้นิติบุคคล บริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ที่ประกอบวิชาชีพบัญชีจะต้องนำรายได้ไปรวมคำนวณเพื่อหากำไรสุทธิ โดยให้หักค่าใช้จ่ายตามมาตรา 65 ทวิ และมาตรา 65 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร ได้จำนวนกำไรสุทธิเท่าใด ให้คำนวณภาษีในอัตราที่กฎหมายกำหนด

1.3 ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ที่จ่ายเงินค่าจ้างให้แก่ผู้ประกอบการวิชาชีพบัญชี จะต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 3 หากผู้รับเงินเป็นบุคคลธรรมดา ให้นำส่งภาษีด้วยแบบ ภ.ง.ด.3 แต่ถ้าผู้รับเงินเป็นนิติบุคคลให้นำส่งด้วยแบบ ภ.ง.ด.53

2. ภาษีมูลค่าเพิ่ม

กฎหมายได้กำหนดให้ ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี เฉพาะการตรวจสอบบัญชีเท่านั้น ที่ได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ส่วนการดำเนินการอื่นๆ เช่น การให้คำปรึกษาทางบัญชี การวางระบบบัญชี การรับจ้างทำบัญชี ฯลฯ หากมีรายรับเกิน 1.80 ล้านต่อปี จะต้องเข้าสู่ระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม

ท้ายนี้ ก็ขอให้ท่านที่ประกอบวิชาชีพบัญชี ได้ใช้ความระมัดระวังว่า การทำธุรกรรมใดเป็นวิชาชีพทางบัญชีหรือไม่ จะได้วางแผนได้ถูกต้อง หากแยกประเภทเงินได้ผิดพลาดแล้ว การยื่นแบบเพื่อเสียภาษีและการถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย จะผิดพลาดไปด้วยนะครับ

 ข้อมูล : นสพ. โพสต์ทูเดย์ วันพุธที่ 25 พ.ค. 48

0 comments:

Post a Comment