Wednesday, June 12, 2013

ภาษีคนทำธุรกิจ

ภาษีคนทำธุรกิจ
http://www.banna-klaeng.com/images/1170819568/1170842392.jpg
               หลายคนที่ทำธุรกิจแบบมีมาตรฐานและเตรียมพร้อมกับทุกเรื่องไม่เว้นแม้แต่เรื่องของ “ภาษี” ที่ต้องคิดและวางแผนก่อนประกอบธุรกิจอันจะนำผลดีมาสู่ธุรกิจเพราะจะทำให้รู้ล่วงหน้าได้อย่างไรบ้าง ทั้งด้านของการเก็บหลักฐาน การออกเอกสารหลักฐาน การคำนวณเสียภาษี การยื่นแบบเสียภาษี ในการจัดเก็บภาษีของสรรพากรนั้น เราพบว่าสรรพากรจัดเก็บภาษีทั้งหมดตามประมวลรัษฎากร 6 ภาษีด้วยกันนั้นคือ

                1. ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

                2. ภาษีเงินได้นิติบุคคล

                3. ภาษี หัก ณ ที่จ่าย

                4. ภาษีมูลค่าเพิ่ม

                5. ภาษีธุรกิจเฉพาะ

                6. อากรแสตมป์

                ในธุรกิจปัจจุบันผู้ประกอบการที่เป็นนิติบุคคลอาจพบว่าภาษีทั้ง 6 กรณีที่กล่าวมาข้างต้นนั้นบริษัทของท่านต้องเสียภาษีทุกเรื่องเลยก็เป็นได้ แต่นิติบุคคลบางรายอาจไม่เคยเสียภาษีธุรกิจเฉพาะเลยหรือไม่เคยเสียอากรแสตมป์เลยซึ่งก็อาจเป็นไปได้อยู่ที่ว่านิติบุคคลนั้นๆ ได้ทำธุรกิจตามที่กฎหมายกำหนดไว้หรือไม่ ถ้ามีหรือทำก็ต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับภาษีนั้นอย่างเลี่ยงไม่ได้

                รูปแบบในการทำธุรกิจในปัจจุบันนอกจากจะจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลแล้ว การประกอบธุรกิจในรูปบุคคลธรรมดาก็มีจำนวนไม่น้อย ซึ่งอาจเป็นเพราะธุรกิจไม่ใหญ่โตอะไรมากมายเจ้าของคนเดียวหรือกิจการของครอบครัว แต่บางรายก็มีเหตุผลที่น่าฟังทีเดียวนั้นก็คือ ไม่ต้องการเข้าไปเกี่ยวข้องกับสรรพากรมากๆ เหมือนกรณีนิติบุคคล แต่เท่าที่สังเกตเห็นพบว่าการประกอบธุรกิจในรูปของบุคคลธรรมดามีส่วนดีที่หลายคนอาจนำไปเป็นข้อมูลในการตัดสินใจได้ว่าจะดำเนินธุรกิจของตนเองในรูปแบบใดจึงจะเหมาะสม นั้นคือ

                1. ง่ายในการตัดสินใจดำเนินธุรกิจ

                2. บุคคลธรรมดาไม่ต้องจัดทำบัญชี และไม่ต้องส่งงบดุลต่อกระทรวงพาณิชย์

                3. เลือกหักค่าใช้จ่ายได้ สำหรับเงินรายได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (5) – (8) แห่งประมวลรัษฎากรซึ่งอาจหักอัตราเหมาหรือเลือกหักตามจำเป็นและสมควร (หักตามจริง) ตามที่คิดว่าตนเองจะได้รับประโยชน์สูงสุดก็ได้

                4. การเสียภาษีไม่มีข้อยุ่งยากมากนัก

                5. เงินได้สุทธิไม่เกิน 1 ล้าน เสียภาษีอัตราต่ำกว่านิติบุคคลทั่วไปซึ่งต้องเสียภาษีในอัตราร้อยละ 30

                ด้วยเงื่อนไขดังกล่าวการเลือกดำเนินธุรกิจในรูปบุคคลธรรมดาจึงพบได้มาก ในส่วนของภาษีที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจของบุคคลธรรมดาซึ่งมีหน้าที่ที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ณ ตอนครึ่งปีหนึ่งครั้งและสิ้นปีอีกหนึ่งครั้งนั้น และนอกจากนั้นบุคคลธรรมดายังอาจจะเสียภาษีอื่นๆ ดังที่กล่าวมาทั้ง 6 ภาษี (ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล) แต่ก็มี 1 ใน 6 ภาษีที่บุคคลธรรมดาผู้ประกอบธุรกิจขอเข้าสู่ระบบนั้นก็คือ การขอเข้าสู่ระบบภาษีมูลค่าเพิ่มด้วยเหตุผลที่ว่ามีภาษีซื้อที่สามารถขอคืนจากสรรพากรได้ โดยกฎหมายมิได้มีข้อห้ามสำหรับผู้ประกอบการที่เป็นบุคคลธรรมดาที่จะเข้าระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่เมื่อเข้าสู่ระบบภาษีมูลค่าเพิ่มเต็มรูปแบบแล้ว จะมีทั้งสิทธิและหน้าที่เหมือนเช่นนิติบุคลเกือบจะทุกกรณี

                แต่กฎหมายภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีมูลค่าเพิ่มนั้นเป็นภาษีคนละเรื่องคนละตัวกัน ดังนั้นหลักเกณฑ์ในการเสียภาษีจึงต่างกันนั้นคือ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเสียจากเกณฑ์เงินสด นั้นคือ ได้รับเงินได้ปีไหนให้นำไปเสียภาษีในปีนั้น ดังนั้นแม้มีสิทธิจะได้รับเงินได้ก็จริง แต่เงินยังไม่ได้รับ ก็จะไม่ต้องนำเงินได้จำนวนดังกล่าวมาเสียภาษีซึ่งต่างจากนิติบุคคลซึ่งใช้เกณฑ์สิทธิในการเสียภาษี

                แต่ในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มของผู้ประกอบการทุกรายจะต้องเรียกเก็บภาษีขายจากลูกค้าหรือผู้รับบริการก็ต่อเมื่อจุดแห่งความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น ซึ่งจุดแห่งความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มอาจจะมิใช่เกิดจากกรณีได้รับเงินค่าสินค้าหรือค่าบริการ แต่อาจจะเกิดจากการส่งมอบสินค้า การออกใบกำกับภาษี การโอนกรรมสิทธิ์ ในจุดนี้เองทำให้ผู้ประกอบการที่เป็นบุคคลธรรมดาได้อย่างถูกกฎหมาย ตามที่ได้กล่าวมาแล้วบุคคลธรรมดาเสียภาษีโดยสรรพากรถือว่าได้รับเงินได้ปีไหนถือเป็นเงินได้ที่ต้องเสียภาษีในปีนั้น แม้ว่าจะเป็นค่าสินค้าหรือค่าบริการในปีที่ผ่านมาแล้วก็ตาม ดังนั้น ถ้าเป็นกรณีขายสินค้า ได้ส่งมอบสินค้าให้กับลูกค้าไปแล้ว ในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2549 มูลค่า 200,000 บาท แต่ลูกค้ายังไม่ชำระเงินค่าสินค้ากับลูกค้า 60 วัน หรือให้ชำระเงินกันในปี 2550 ซึ่งผลในทางภาษีทั้งสองกรณีจะต่างกันนั้นคือ

                1. ภาษีมูลค่าเพิ่ม ผู้ขายรายนี้ต้องออกใบกำกับภาษีเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ซื้อในทันทีที่ส่งมอบสินค้าให้กับลูกค้านั้นคือวันที่ 25 พฤศจิกายน 2549 และต้องนำส่งภาษีขายให้กับสรรพากรภายในวันที่ 15 ธันวาคม 2549

                2. ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ผู้ขายรายนี้ยังไม่ต้องนำรายได้จำนวน 200,000 บาท มารวมเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในปี 2549 เพราะยังไม่ได้รับเงิน แต่เงินได้จำนวน 200,000 บาท จะต้องนำไปเสียภาษีในปี 2550 แทน ซึ่งเป็นการเลื่อนการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้ช้าลงไปอีกหนึ่งปี

                ลองมาดูในเรื่องของการให้บริการที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มของบุคคลธรรมดา เช่น บุคคลธรรมดาประกอบธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ได้ไปรับจ้างสร้างอาคารโรงรถให้กับบริษัทแห่งหนึ่งโดยตกลงค่าจ้างกันจำนวน 400,000 บาท เริ่มก่อสร้างและเสร็จสิ้นในเดือนธันวาคม  2549 แต่ค่าจ้างไปรับในปี 2550 ผลในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ผู้รับเหมาก่อสร้างต้องเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มเมื่อได้รับชำระราคาค่าก่อสร้าง มิใช่เมื่อสร้างเสร็จเพราะความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มของธุรกิจให้บริการเกิดเมื่อชำระราคาค่าบริการ หรือได้ออกใบกำกับภาษี กรณียังไม่มีการออกใบกำกับภาษี ยังไม่มีการชำระราคาค่าบริการ ดังนั้น จึงยังไม่ต้องเสียภาษี และยังไม่ต้องนำค่าจ้างจำนวน 400,000 บาท มาคำนวณเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในปี 2549 แต่นำไปเสียในปี 2550 ซึ่งเป็นปีที่จ่ายเงินได้กันจริงๆ

                จากข้อเท็จจริงดังกล่าวบุคคลธรรมดาสามารถนำไปใช้ในการวางแผนภาษีโดยยึดระยะเวลาการเสียภาษีออกไป หรือกรณีที่ในปี 2549 มีรายได้สูง ซึ่งจะทำให้ต้องเสียภาษีในอัตราที่สูงขึ้น เสียภาษีมากขึ้น ก็อาจจะทำให้เสียภาษีน้อยลงเป็นจำนวนมากด้วยวีการง่ายๆ เช่นนี้ได้

                การทำธุรกิจนอกจากต้องทำให้ต้นทุนการขายนั้นคือตัวสินค้ามีราคาต่ำหรือหาสินค้าคุณภาพดีแต่ราคาถูกมาขายแล้วการวางแผนภาษีที่ดีจะช่วยให้ประหยัดภาษีเป็นการแบ่งเบาภาระให้กับผู้มีเงินได้อีกทางหนึ่งเพื่อผลกำไรที่ดีกว่า



                ที่มา : วารสาร ธรรมนิติ ฉบับ เอกสารภาษีอากร

0 comments:

Post a Comment